รศ.ดร.ภัทรกิตติ์ เนตินิยม หัวหน้าภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันมีปัจจัยลบมากมาย ตั้งแต่เรื่องโรคระบาดโควิด-19 (Covid-19) ต่อเนื่องมาจนถึงสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้เศรษฐกิจซึมยาวมาเป็นปีที่สาม อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 13 ปี ลดกำลังซื้อของประชาชนลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ ในภาวะเงินเฟ้อสูง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มผู้เกษียณอายุ ปัจจุบันผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วน 18.3% (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2565 จากกรมกิจการผู้สูงอายุ) ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ คือ มีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วน 20% ขึ้นไป
ยิ่งสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ยิ่งมีความจำเป็นต้องช่วยให้ผู้สูงอายุมีกำลังทรัพย์เพียงพอในการดำรงชีพ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมยังเจริญเติบโตต่อไปได้ หนึ่งในนโยบายสำคัญ คือการส่งเสริมและจูงใจให้เกิดการออมของประชาชนตั้งแต่ในวัยทำงาน เพื่อให้มีเงินออมพอเพียงในการใช้จ่ายในวัยเกษียณ
และลดภาระงบประมาณของรัฐที่จะต้องดูแลในส่วนนี้ ปัจจุบันรัฐมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การส่งเสริมการออมเป็นนโยบายที่เน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการเงินให้ ประชาชน สามารถเลี้ยงดูปากท้องตนเองได้ โดยรัฐมีบทบาทเพียงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้มีการออมเพิ่มขึ้น จึงถือเป็นแนวทางที่ยั่งยืนในเชิงการคลังสาธารณะ เพราะไม่กระทบต่อความมั่นคงของงบประมาณหรือการคลังของประเทศในระยะยาว
จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการออมและการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ครัวเรือนที่ออมเงินมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การสำรวจฯ เมื่อปี 2559 (66.7%) 2561 (72.9%) และ 2563 (74.1%) เหตุผลสำคัญคือเพื่อใช้จ่ายในยามชรา
อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน สถิตินี้แสดงว่า มีครัวเรือน 26% (ประมาณ 1 ใน 4) ของทั้งประเทศที่ไม่มีการออมเงิน และมีความเสี่ยงจะเป็นภาระของสังคมและงบประมาณของประเทศ หากสามารถลดสัดส่วนครัวเรือนกลุ่มนี้ลงได้มากกว่านี้จะสามารถรักษากำลังซื้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวได้ต่อไป
การช่วยให้มีจำนวนประชาชนที่มีการออมเพิ่มขึ้นได้ รัฐควรต้อง
อีกนโยบายที่เน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการคลังให้รัฐ สามารถดูแลประชาชนในวัยเกษียณได้ ที่พูดถึงกันมากคือ รัฐมีบทบาทเป็นผู้จัดหารายได้ให้ผู้สูงอายุในรูปแบบที่มีการกำหนดอัตราการสมทบที่แน่นอน (Defined Contribution) เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กับรูปแบบที่มีการกำหนดอัตราการจ่ายบำนาญที่แน่นอน (Defined Benefit) เช่น กองทุนชราภาพของประกันสังคม หรือกองทุนผู้สูงอายุ
วัตถุประสงค์ของ กอช. เพื่อให้มีระบบการออมในการดํารงชีพในยามชราภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะภาคแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพอย่างทั่วถึง (ข้อมูลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าแรงงานนอกระบบมีค่าจ้างโดยเฉลี่ยต่อเดือนราว 50% ของค่าจ้างของแรงงานในระบบ) กอช. จึงเป็นกลไกที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด แต่สามารถปรับปรุงอัตราเงินสมทบจากรัฐให้สูงขึ้นเพื่อจูงใจประชาชนมากกว่านี้ และขยายช่องทางการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น
ความพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติผู้สูงอายุที่ระบุว่า ควรจ่ายเบี้ยยังชีพหรือบำนาญพื้นฐานในอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน หรือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือนนั้น เป็นการมองที่แคบแบบเฉพาะกองทุน มิได้คำนึงถึงเม็ดเงินที่รัฐจ่ายเพื่อดูแลผู้สูงอายุในโครงการอื่นอยู่แล้ว
อาจเป็นการใช้งบประมาณรัฐที่ซ้ำซ้อนกับกองทุนหรือโครงการอื่น เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุไว้อยู่แล้วและจะสร้างภาระผูกพันต่อเนื่องทางการคลังอย่างมาก และไม่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพเศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศ
ดังนั้น เมื่อพิจารณานโยบายเรื่องระบบการดูแลผู้สูงอายุ รัฐต้องพิจารณาเม็ดเงินรัฐที่จ่ายเพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ไม่ใช่มองแค่เงินของกองทุนใดกองทุนหนึ่ง แต่ที่น่ากังวลคือ การที่ร่างพ.ร.บ. กำหนดให้รัฐต้องจัดสรรเงินไม่ต่ำกว่าจำนวนเท่านั้นเท่านี้จากแหล่งเงินต่างๆ เช่น ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ น้ำมัน สุรา ยาสูบ
หรือแม้กระทั่งสลากกินแบ่งรัฐบาล สมทบให้กองทุนบำนาญแห่งชาติ ทำให้ต้องใช้งบประมาณรัฐเพิ่มขึ้นราว 500,000 - 600,000 ล้านบาทต่อปี กลายเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณเกินจำเป็น อาจกระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังของรัฐและต่อศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะสั้น-กลางได้หากต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมาเข้ากองทุนดังกล่าว ซึ่งจะสร้างผลเสียกับทั้งประเทศในที่สุด
ในต่างประเทศที่รัฐจ่ายบำนาญมากซึ่งมักเป็นประเทศที่ร่ำรวย พบว่าสร้างภาระต่อสภาพเศรษฐกิจและการคลังของรัฐมิใช่น้อย ดังนั้น จึงมีความพยายามปรับนโยบายและกฎหมายเพื่อรองรับสังคมสูงวัยกันมากขึ้น โดยดำเนินการแบบองค์รวมในหลายด้านรวมถึงการเพิ่มอายุเกษียณตามกฎหมาย เช่น สิงคโปร์เพิ่มอายุเกษียณเป็น 63 ปี และเป็น 65 ปีในที่สุด
ญี่ปุ่นเพิ่มอายุเกษียณเป็น 70 ปี สวีเดนค่อยๆ เพิ่มอายุเกษียณเป็น 69 ปีในปี 2566 และอังกฤษจะปรับอายุเกษียณเป็น 68 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับสูตรการคำนวณเงินบำนาญเพื่อเพิ่มความสมดุลด้านเศรษฐกิจ การคลังและสวัสดิการสังคมด้วย
สรุป นโยบายรัฐเพื่อรับสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ควรมองแบบองค์รวมและดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างแบบองค์รวมเช่นในต่างประเทศโดยเน้นให้ประชาชนมีความสามารถในการดูแลตัวเองในยามเกษียณได้ และรัฐมีบทบาทเสริมเท่าที่จะไม่เป็นการสร้างภาระด้านการคลังจนเกินสมควร รวมทั้งส่งเสริมการออมในทุกรูปแบบน่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายมากที่สุด