ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 12 เมษายน 2565 เช้านี้ที่บริเวณคูเมืองข้างลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พลโท สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าฯ
ได้นำหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน อปท. และประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ทำบุญตักบาตรทางน้ำพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 60 รูป เนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ ประจำปี 2565 ซึ่งกิจกรรมทำบุญตักบาตรครั้งนี้ถือเป็นการทำบุญตักบาตรทางน้ำครั้งแรกของจังหวัดนครราชสีมา
โดยพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ได้นำคณะพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 60 รูป ลงเรือบิณฑบาตทางน้ำ รับสิ่งของข้าวสารอาหารแห้งจากประชาชน ที่ไปร่วมทำบุญตักบาตร พร้อมกันนี้ประชาชนยังได้ร่วมกันสักการะรดน้ำขอพรอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวเนื่องในวันปีใหม่ไทยอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ส่วนช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 13.00 น. นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธาน ในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐานในพระเจดีย์ และอัญเชิญพระคันธารราฐ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวง วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร (วัดกลางนคร) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
มาประดิษฐานบนราชรถที่ตกแต่งริ้วขบวนแบบประเพณีไทยอย่างสวยงาม เวลา 14.00 น. เคลื่อนขบวนแห่เข้าสู่ถนนจอมพลมุ่งหน้าไปลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) และสรงน้ำพระคันธารราฐ สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคลต้อนรับเทศกาลปีใหม่ไทย
รวมทั้งการสรงน้ำพระพุทธรูป พระเกจิดังของโคราชที่ลานโอเปร่า ร่วมถ่ายภาพกับจุดเช็คอิน เจดีย์ทราย เวลา 16.00 น. แห่พระคันธารราฐ ลอดซุ้มประตูชุมพล พร้อมแห่ผ้าทอง ผ้าเงินความยาว 554 เมตร เท่ากับอายุของเมืองโคราช ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยว ร่วมจับชายผ้าทองผ้าเงินให้เป็นริ้วยาว ลอดซุ้มประตูชุมพล มุ่งหน้าสู่วัดพระนารายณ์มหาราช เพื่อนำผ้าไปห่มพระเจดีย์
การจัดงานอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชาวโคราชและนักท่องเที่ยวสามารถ ร่วมสักการะพระคันธารราฐ โดยโปรยกลีบดอกไม้แทนการสรงน้ำบริเวณสองข้างทาง ถ.จอมพล ถ.ชุมพล ถ.มหาดไทย และ ถ.ราชดำเนิน
และตั้งแต่เวลา 16.00 น.ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน คณะลิเก “วรต้อ สิมานคร” “พงษ์เพชร เบญจพร” และ “ข้าวเหนียว ดวงพร” จากสมาคมลิเกโคราช การแสดงเพลงโคราชจากสมาคมเพลงโคราช การแสดงหมอลำกลอนจากชมรมหมอลำกลอนฟ้อนอีสานหลานย่าโม วันที่ 13-15 เม.ย นี้ ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย
สำหรับ “พระคันธารราฐ” หรือพระปางขอฝน ถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวโคราช มาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช มีอายุกว่า 300 ปี ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระนารายณ์ การแห่พระคันธารราฐ เพื่อขอให้เมืองโคราชมีฝนตกต้องตามฤดูกาล และเป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันมาต่อเนื่อง แต่หายไปในช่วงหนึ่ง และได้รื้อฟื้นจัดประเพณีขึ้นอีกในปี 2560-62 ต่อเนื่อง 3 ปี แต่ประสบปัญหาวิกฤตโควิด-19 จึงต้องหยุดอีกครั้ง เพื่อรักษาศิลปวัฒนธรรมและประเพณีสงกรานต์จึงได้กลับมาจัดขึ้นอีกในปีนี้