เทศกาลสงกรานต์-อากาศแปรปรวน ผลผลิตน้อย ความต้องการสูง ดันราคาหมูขยับ

13 เม.ย. 2565 | 10:14 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2565 | 17:28 น.

ลักขณา นิราวัลย์ : นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เขียนบทความเรื่อง ราคาหมูขยับจากปัจจัยรอบด้าน เป็นไปตามกลไกตลาด ใจความสำคัญดังนี้

 

การผลิตอาหารเพื่อประชากรโลก มีห่วงโซ่การผลิตหรือ Supply Chain ที่ยาวมาก และแน่นอนว่าต้องมีผู้คนมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งปกติแล้ว “กลไกตลาด” จะเป็นตัวกำหนดสมดุลราคาขายที่เหมาะสม กล่าวคือถ้ามีความต้องการมากผลผลิตน้อยราคาจะสูง ถ้ามีผลผลิตมากแต่ความต้องการน้อยราคาจะตกต่ำ

 

แน่นอนว่าวัฏจักรสินค้าแต่ละชนิดจะมีปัจจัยเข้ามากระทบในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะกระทบราคาขายในช่วงนั้น ๆ ยิ่งถ้ามีปัจจัยผิดปกติเข้ามากระทบต้นทุนการผลิต และเกิดการแทรกแซงในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของห่วงโซ่ นั่นย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังเช่นที่ขณะนี้มีปัจจัยรอบด้านเข้ามาส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรภาคปศุสัตว์สูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 

 

เทศกาลสงกรานต์-อากาศแปรปรวน ผลผลิตน้อย ความต้องการสูง ดันราคาหมูขยับ

 

ประการแรก วัตถุดิบอาหารสัตว์ 

ปัจจัยที่เกินคาดคิดอย่างผลพวงจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ถีบตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวโพดอาหารสัตว์ ราคาข้าวสาลี กากถั่วเหลือง เนื่องจาก 2 ประเทศ เป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น กลายเป็นต้นทุนค่าขนส่งที่ทวีคูณขึ้นไปอีก

 

นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระดับราคาวัตถุดิบในประเทศที่ดันราคาให้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ก่อความเดือดร้อนอย่างหนักให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากอาหารเป็นต้นทุนหลักของการผลิตสัตว์ถึง 70% ทีเดียว นับเป็นต้นทุนหลักที่หากรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันการณ์ จะส่งผลให้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ และชะลอหรือยุติการเลี้ยงสัตว์ 

 

  เทศกาลสงกรานต์-อากาศแปรปรวน ผลผลิตน้อย ความต้องการสูง ดันราคาหมูขยับ

 

ประการที่สอง : มาตรการป้องกันโรค 

ช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF) ระบาดทำให้ปริมาณแม่พันธุ์สุกรหายไปจากระบบจากเดิม 1.1 ล้านตัว เหลือเพียง 5 แสนตัว และลูกสุกรจาก 28 ล้านตัวเหลือเพียง 12-13 ล้านตัว ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเนื้อหมูหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก รวมถึงเกษตรกรก็หายไปจากระบบจาก 2 แสนรายเหลือเพียง 8 หมื่นราย เกษตรกรที่เหลืออยู่จำเป็นต้องวางมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก เพื่อให้สามารถเลี้ยงสุกรได้ตลอดรอดฝั่ง 

 

ประการที่สาม : สภาพภูมิอากาศ 

 ภาวะอากาศร้อนแล้งและเปลี่ยนแปลงบ่อย  สภาพอากาศแปรปรวนส่งผลโดยตรงต่อการเลี้ยงสุกรมีอาการเครียด กินอาหารได้น้อยลง เสี่ยงต่อการแท้ง  อัตราการเจริญเติบโต (ADG) ต่ำ และอัตราแลกเนื้อ (FCR) แย่ลง รวมถึงอัตราเสียหายที่มักสูงขึ้น  

 

 ประการที่สี่ : เทศกาลรื่นเริง 

เทศกาลสงกรานต์ หรือ เทศกาลรื่นเริงต่าง ๆ  มีผลต่อความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นสวนทางกับผลผลิตที่ลดลง 

 

ทั้งหมดนี้ เป็นต้นทุนการผลิตรวมที่สูงขึ้นทุกทิศทาง ส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็จะอยู่ในระดับสูงไปจนกว่าปัจจัยที่เข้ามากระทบจะค่อยๆลดระดับลง เช่น สงครามสงบ ล่วงเลยเวลาช่วงเทศกาล หรือมีวัคซีนป้องกันโรค ASF ขึ้นมา และแม้ปัจจัยต่างๆ จะยังคงอยู่ แต่ถ้าผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ หรือหันไปบริโภคโปรตีนอื่นทดแทน ระดับราคาเนื้อหมูก็จะลดลงเองหรือที่เรียกว่า “กลไกตลาดทำงาน” โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงหรือตรึงราคาขายใดๆ  

 

ขอเพียงรัฐทำหน้าที่ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยพิจารณารายละเอียดโครงสร้างอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสนับสนุนกำลังซื้อทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะสมดุลได้เองด้วยกลไกตลาด