สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไร้จุดจบ ขณะที่สหรัฐฯและชาติพันธมิตรในยุโรปเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเพื่อปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ขณะรัสเซียก็ตอบโต้กลับแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ล่าสุด (8 เม.ย.) รัฐสภายุโรปลงมติคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน เชื้อเพลิงนิวคลียร์จากรัสเซียทันที (แต่มติดังกล่าวไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมาย ขณะที่หลายประเทศเกรงหากคว่ำบาตรรัสเซียจะก่อให้เกิดวิกฤติพลังงาน) ขณะที่รัสเซียประกาศให้ชาติที่ไม่เป็นมิตรหากยังต้องนำเข้าก๊าซจากรัสเซียต้องชำระด้วยเงินรูเบิล
อย่างไรก็ดีจากที่ยูเครนเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” หรือแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารสำคัญของยุโรป จากสงครามครั้งนี้ส่งผลให้เกษตรกรยูเครนจำนวนมากต้องละทิ้งไร่นาของตนเพื่อหนีเอาชีวิตรอดจากภัยสงคราม ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ) ประเมินว่า สถานการณ์การสู้รบจะทำให้ยูเครนสูญเสียผลผลิตจากพื้นที่เพาะปลูกราว 20-30% ทั่วประเทศ ส่งผลให้ยุโรปที่เคยนำเข้าสินค้าอาหารและสินค้าอื่น ๆ จากยูเครนต้องเร่งหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลุ่มสินค้าอาหารของไทยที่ได้รับอานิสงส์ อาจมีคำสั่งซื้อเพิ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหารแปรรูป เช่น อาหารทะเลแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง ที่สถิติการส่งออกในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปี 2565 ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯมีการเติบโตมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ และตัวเลขการส่งออกต่อไป
ขณะที่สินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนในภาพรวมส่งออกไปทั่วโลก ในสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน สินค้าถุงมือยางจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด ในสินค้าอาหารที่คาดว่าจะเติบโต และได้รับอานิสงส์ ได้แก่ อาหารทะเลและผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสำเร็จรูป มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง ผักผลไม้ ซอสปรุงรส ธัญพืช และน้ำตาล
“แม้ไทยอาจมีโอกาสการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯและยุโรปมากขึ้น แต่จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อปัญหาหลายด้านเช่นกัน เช่น ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบอาหารปรับตัวสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาด้านการขนส่ง และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น ดังนั้นในภาพรวมการส่งออกของไทยปีนี้คาดจะขยายตัวตามกรอบที่ กกร.วางไว้ที่ 3-5% สอดคล้องกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยที่คาดการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 5% หรือมีมูลค่ารวม 284,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ลูกค้ายุโรปมีคำสั่งซื้อสินค้าไก่สดไทยเพิ่ม มองว่ามาจาก 2 ปัจจัยคือ 1.เพื่อเป็นความมั่นคงด้านอาหารจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน และ 2.ต้องเร่งนำเข้าสินค้าภายใต้โควตาภาษีที่ให้กับไทยภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่งผลให้ราคาสินค้าไก่สด (ไก่หมักเกลือ) ของไทยไปอียูปรับตัวสูงขึ้น โดย ณ ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน(หักค่าระวางเรือแล้วเหลือเฉลี่ยที่ 3,400-3,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน) จากปีที่แล้วช่วงเดียวกันเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
“อย่างไรก็ดี ปัญหาของโรงงานแปรรูปไก่ของไทยเวลานี้คือ ยังขาดแคลนแรงงานในการผลิตภาพรวมมากกว่า 2 แสนคนที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว แต่เวลานี้ยังติดปัญหาเรื่องโควิด ทำให้ยังนำเข้าได้ในวงจำกัด”
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ไทยไม่ได้อานิสงส์ทางตรงจากยุโรปที่เริ่มขาดแคลนและกักตุนอาหาร เพราะการส่งออกทูน่าประป๋องของไทยไปตลาดอียูต้องเสียภาษีนำเข้าสูงถึง 24% แต่ได้อานิสงส์ทางอ้อมจากอียูไปซื้อสินค้าทูน่าจากฟิลิปปินส์ และเอกวาดอร์ ที่ได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากอียูเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตของทั้งสองประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ มีผลให้ผู้นำเข้าในตลาดอื่น ๆ มานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น
“ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าเวลานี้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จากปีที่แล้วเฉลี่ยที่ 1,400-1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ปัจจัยจากต้นทุนน้ำมันของเรือประมงจับปลาสูงขึ้น และจากสินค้าโภคภัณฑ์เวลานี้ภาพรวมปรับขึ้นทั่วโลก มีผลให้ราคาสินค้าทูน่าปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20% แต่เทียบสินค้าอื่นราคาโดยรวมก็เพิ่มขึ้นไม่มาก จากทูน่ากระป๋องเป็นสินค้าที่ราคาไม่แพง อย่างไรก็ตาม คาดปีนี้มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 10% (ปีที่แล้วส่งออก 5.61 หมื่นล้านบาท)” นายชนินทร์กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3775 วันที่ 17 – 20 เมษายน 2565