สธ.เตือน กินหมูดิบ สุกๆดิบๆ เสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับ

15 เม.ย. 2565 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2565 | 14:33 น.

สธ.เตือนหลีกเลี่ยงกินหมูดิบหรือสุกๆดิบๆเสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับ สถิติ  1 มกราคม – 5 เมษายน 2565 พบผู้ป่วย 81 ราย เสียชีวิต 7 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ

 

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ หลายครอบครัวมีการรับประทานร่วมกัน และอาจมีเมนูสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก

 

 

ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ สถานการณ์ของโรคไข้หูดับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 เมษายน 2565 พบผู้ป่วย 81 ราย เสียชีวิต 7 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคืออายุ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ

 

ภาคที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ นครราชสีมา พะเยา อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และตาก ตามลำดับ

 

โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง

 

คือ 1.เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือการสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย

หลังจากได้รับเชื้อ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

 

 

หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้