ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ได้โพสต์เฟซบุ๊กKittipong Kittayarak ในหัวข้อ “ว่าด้วยการส่งออกข้าวเหนียวมะม่วงไทยสู่เวทีโลก” ระบุว่า
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าข้าวเหนียวมะม่วงเป็นของหวานของไทยที่มีรสชาติเกินห้ามใจของผู้มีโอกาสได้ชิม ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน
จนว่ากันว่าอาจติดอันดับเป็น soft power ประจำชาติกันทีเดียว!
ที่แน่ๆ ปฏิบัติการณ์ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ที่น้องมิลลิ ได้สร้างไว้ในเวที Coachella ได้ทำให้ Mango & Sticky Rice เป็นที่รู้จักมากขึ้น และอาจมีแนวโน้มทำให้ข้าวเหนียวมะม่วง มีโอกาสได้ขึ้นทำเนียบเป็นของหวานยอดนิยมคู่กับอาหารเด่นของไทยเช่น ผัดไทย ต้มยำกุ้ง และ ส้มตำ ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก
แต่จะทำอย่างไรให้ข้าวเหนียวมะม่วงไทยก้าวสู่ทำเนียบของหวานโลกได้จริงๆ
จะว่าไปแล้วข้าวเหนียวมะม่วงนับเป็นตัวแทนที่ดีมากของของหวานไทย เพราะมีองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์หลักของไทยถึง 3 อย่าง คือ มะม่วง กะทิจากมะพร้าว และ ข้าวเหนียว
จุดเด่นของข้าวเหนียวมะม่วง คือ รสชาติหวานแหลมของมะม่วงไทยที่ตัดกับความกลมกล่อมของข้าวเหนียวราดน้ำกะทิที่ออกมาลงตัวแบบสุดละมุน
แต่หัวใจสำคัญที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ รสชาติของมะม่วงไทยที่อร่อยที่สุดในโลก
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทยมีผลผลิตมะม่วงเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงอินเดีย และจีน
ปริมาณการผลิตของเราอยู่ประมาณ 3,000,000 ตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบริโภคภายในประเทศ มีการส่งออกระหว่าง 3-5 เปอร์เซ็นต์ ไปยังญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง และเพื่อนบ้านใกล้ๆคือมาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม
ถึงแม้จะบริโภคมะม่วงในประเทศมาก แต่ผลผลิตของเราก็มากเหลือเฟือที่ทำให้เราเป็นประเทศผู้ส่งออกมะม่วงมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำเงินจากการขายมะม่วงให้ต่างประเทศปีละราว 4,500 ล้านบาท
ซึ่งยังมีแนวโน้มจะขยายได้อีก เพราะมะม่วงไทยยังเป็นที่ต้องการในยุโรปและอเมริกา ซึ่งต้องนำเข้าจากประเทศในอเมริกาใต้เป็นหลัก
การที่ผลผลิตมะม่วงของเราขึ้นอยู่กับตลาดภายในประเทศ ทำให้ราคามะม่วงตกต่ำ และผันผวน ไม่แน่นอน ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเป็นอย่างมาก
แต่การจะส่งออกมะม่วงไทยไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันยังทำได้ยาก เพราะมะม่วงเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เน่าเสียได้ง่าย และยังมีกฎเกณฑ์ด้านการนำเข้าผลไม้ที่ยุ่งยาก ยิ่งถ้าต้องทานตอนสุกเต็มที่พอดียิ่งทำได้ยาก
ดังนั้น การที่จะทำให้การทานข้าวเหนียวมะม่วงนอกประเทศ มีรสชาติเหมือนกับที่เราทานกันในเมืองไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เมื่อเร็วๆ นี้ตอนที่ไปเยี่ยมคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับทราบด้วยความยินดีว่าหลายฝ่ายกำลังร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้
อาจารย์ส้ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ หัวหน้าคณะวิจัยจากสาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เล่าให้ผมฟังว่า จุดสำคัญที่จะแก้ปัญหาการส่งออกมะม่วง คือ การสร้างระบบการจัดการห่วงโซ่คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ทางเกษตรที่เน่าเสียง่าย เช่นมะม่วง ให้สามารถเดินทางจากเกษตรกรต้นทางไปสูประเทศปลายทางอย่างปลอดภัย
ปัจจุบันประเทศไทยของเรายังขาดระบบการจัดการ "ห่วงโซ่ความเย็น" (Cold Chain) ที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน เรายังขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในหลายขั้นตอน โดยเฉพาะช่วงการขนส่งและการขนถ่ายขึ้นเครื่องบิน ทำให้ต้องผลิตภัณฑ์ต้องอยู่ในอุณหภูมิสูงอันเป็นจุดวิกฤตที่ทำให้เน่าเสียได้
ทางทีมวิจัย สจล. จึงได้ทำการวิจัยโดยสร้างแบบจำลองของเส้นทางการเดินทางของ "มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง" ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด จากประเทศไทยไปสู่ประเทศฝรั่งเศส เป็นกรณีศึกษาเพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดการห่วงโซ่ความเย็นของระบบการขนส่งผลิตผลทางเกษตรที่เน่าเสียง่ายทางอากาศ อันจะนำไปสู่การพัฒนา guideline ที่เหมาะสมในอนาคต
คณะวิจัยได้จำลองเส้นทางการเดินทางและการขนส่งมะม่วงบรรจุกล่องจากสวนไปโกดังสินค้า การขนส่งจากโกดังไปสู่ระบบการขนถ่ายในสนามบินสุวรรณภูมิ การ transit ที่สนามบิน Dubai การขนถ่ายในสนามบินที่กรุงปารีส การเก็บในโกดัง และการไปสู่ร้านค้าที่กรุงปารีสอันเป็นปลายทาง โดยได้นำเครื่องมือด้านไอทีที่สมัยใหม่ซึ่งสามารถจะบันทึกข้อมูลและติดตามมะม่วงแต่ละลูกได้อย่างละเอียด และได้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์สร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ และนำไปใช้ในการเดินทางจริงด้วย
โครงการนี้มีภาคีทั้งจากประเทศไทยและฝรั่งเศส นอกจากคณะวิจัย สจล.ของอาจารย์ส้มแล้ว ยังมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) การท่าอากาศยานไทย และสถาบันวิจัยทางการเกษตรแห่งชาติของฝรั่งเศส (INRAE INSTIT) อีกด้วย
ขั้นตอนต่างๆ ที่เล่าให้ฟังเป็นเพียงคร่าวๆ ความจริงมีรายละเอียดอีกมากมาย เลยขอนำรายละเอียดบางส่วนมาโพสต์ไว้ด้วยครับ
โครงการนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการและการประเมินผล ซึ่งหากสำเร็จน่าจะสามารถช่วยให้ประเทศไทยสามารถประกาศศักยภาพของ soft power ข้าวเหนียวมะม่วงไทยไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้น
ขอขอบคุณและชื่นชมคณะวิจัย สจล.และภาคีที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเช่นนี้
ความคืบหน้าเป็นอย่างไรผมจะติดตามจากอาจารย์ส้มมาเล่าให้ฟังต่อครับ!
Photo credits: สจล. และเทศกาลมะม่วงฉะเชิงเทรา
#KMITL