นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การดูแลราคาสินค้า ว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน 1.ประโยชน์สำหรับเกษตรกร 2.ประโยชน์ที่เกิดกับผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ขัดกันอยู่ เกษตรกรอยากให้ผลปาล์มราคาสูงที่สุด ส่วนผู้บริโภคอยากให้ราคาน้ำมันปาล์มบริโภคราคาต่ำที่สุด กระทรวงพาณิชย์ต้องบริหารความสมดุลว่าทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด
รวมทั้งผู้ประกอบการที่อยู่ตรงกลางให้ประกอบธุรกิจต่อไปได้และน้ำมันปาล์มบริโภคจะต้องไม่ขาดตลาด ต้องช่วยดูทั้ง 3 ฝ่าย เกษตรกรเมื่อราคาดี ขณะนี้ราคากิโลกรัมละ 9-10 บาท และเราช่วยเร่งรัดการส่งออกจน +700 กว่าเปอร์เซ็นต์ ช่วยให้ราคาปาล์มดีขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น ผู้บริโภคต้องซื้อน้ำมันปาล์มขวดบริโภคในราคาที่สูงขึ้น
“กระทรวงต้องทำให้กับผู้ประกอบการพออยู่ได้ โดยไม่กำไรมากจนเกินเหตุ เพื่อให้การผลิตเดินต่อได้ และให้ผู้บริโภคไม่รับภาระมากเกินไปจากผลปาล์มที่ราคาสูงขึ้น วิธีคือลดผลกำไรลงมา ลดส่วนต่างระหว่างต้นทุนกับราคาจำหน่ายปลีก กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดทำโครงสร้างราคาขึ้นมา
ขณะนี้ราคาที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือและประชุมร่วมกับผู้ประกอบการให้จำหน่ายในราคาไม่เกินราคากำกับ ขณะนี้ยังอยู่ในราคากำกับและต่ำกว่าราคาที่กำกับมันปาล์มขวดเฉลี่ยขวดละ 62-65 บาท โดยเมื่อวาน(25 เม.ย. 65) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 64.44 ต่อขวด ซึ่งราคาตามโครงสร้างจะอยู่ที่ 68-69 บาท”
ส่วนการดูแลต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอาหารสัตว์มี 3 กลุ่ม 1.กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ที่เป็นพืชสำหรับอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด เป็นต้น 2.กลุ่มปศุสัตว์หรือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ 3.กลุ่มผู้ประกอบการอาหารสัตว์ 3 กลุ่มนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เชิญประชุมร่วมกับกรมการค้าภายในหลายครั้งแต่ทั้ง 3 ฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ ดูเหมือนจะมีความเห็นที่แย้งกันอยู่ ว่าแต่ละมาตรการควรจะเป็นอย่างไร เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่อยากให้ราคาข้าวโพดสูงที่สุด กลุ่มผู้เลี้ยงหมู ไก่ ไข่ อยากให้ต้นทุนต่ำไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นและต้องไปขึ้นราคาเนื้อหมู เนื้อไก่และไข่ไก่
ขณะที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์อยากให้ต้นทุนอาหารสัตว์ต่ำลงเพราะกระทรวงพาณิชย์กำกับราคาอยู่ หากไม่มีกำไรจะหยุดผลิตและทำให้อาหารสัตว์ขาดซึ่งไม่ละความพยายาม เพราะทุกฝ่ายถ้าเห็นพ้องต้องกันจะดีที่สุดและคิดว่าจะได้ข้อสรุปอีกครั้ง มอบหมายอธิบดีกรมการค้าภายในกับปลัดกระทรวงฯ ไปคุยอีกครั้งให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้มีมาตรการถ้าสามารถพูดจากันได้ทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกันได้
ขณะที่แผนการรับมือที่จะมีการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงว่าราคาน้ำมันมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อและราคาสินค้า สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำและเป็นนโยบายที่ตนมอบคือพยายามกำกับราคาจากโรงงานและราคาจำหน่ายปลีกให้เกิดความสมดุลที่สุด จากต้นทุน + ผลกำไรเป็นราคาจำหน่ายปลีก จะพยายามปรับผลกำไรให้มีน้อยที่สุด เท่าที่ผู้ประกอบการจะพอรับได้ และไม่หยุดจำหน่ายซึ่งมีการหารือมาตลอด จะให้ราคาจำหน่ายปลีกปรับขึ้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่แน่นอนว่าน้ำมันจะมีส่วนสำคัญในการทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ส่วนนโยบายน้ำมันเป็นส่วนที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานจะเป็นผู้กำหนด กระทรวงพาณิชย์เป็นปลายทางที่จะรับมาบริหารจัดการให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุดภายใต้ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน
ขณะนี้สินค้าราคาสำคัญ 18 หมวดได้กำกับดูแลโดยใกล้ชิดยังไม่มีการอนุญาตและปรับขึ้นราคา ซึ่งมีโครงสร้างราคาเดิมที่เป็นราคากำกับ ยกเว้นบางกรณีที่ต้องปรับขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการหยุดการผลิตต้องดูเป็นกรณีไป เพราะผู้ผลิตแต่ละรายต้นทุนไม่เหมือนกัน รายใหญ่และรายย่อยต้องดูลึกทุกรายการ จะต้องแจ้งต้นทุนการผลิต สต๊อก ราคาจำหน่าย ต้นทุนการบริหารจัดการ ส่วนราคาน้ำมันกระทรวงพาณิชย์สามารถคำนวณได้