นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพิ่มอีก 2 สินค้า คือ ผ้าไหมสาเกต จังหวัดร้อยเอ็ด และ สับปะรดศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย โดยทั้ง 2 สินค้า ถือเป็นสินค้าท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งต้นกำเนิดของสินค้า สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนจากความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น
สำหรับ ผ้าไหมสาเกตมีการผลิตในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผ้าไหมมัดหมี่ที่ทอด้วยลายพื้นบ้านโบราณ 5 ลาย ทอต่อกันในผืนเดียว เริ่มจากลายโคมเจ็ด ลายนาคน้อย ลายคองเอี้ย ลายค้ำเพา และลายหมากจับ ตามลำดับ โดยมีเอกลักษณ์สำคัญ คือ ลายนาคน้อย 12 ตัวอยู่ตรงกลาง และลายหมากจับ 3 ลำเป็นช่องไฟของลายพื้น และแต่ละลายจะทอคั่นด้วยผ้าสีชมพูอมม่วงของดอกอินทนิลบก ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด
ส่วน สับปะรดศรีเชียงใหม่ ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่ ของจังหวัดหนองคาย เป็นสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย มีผลทรงรี ร่องตาตื้น ก้านสั้น เปลือกบาง เนื้อสับปะรดมีเส้นใยละเอียดและมีสีเหลืองเข้มหรือสีน้ำผึ้ง มีกลิ่นหอม รสชาติหวานฉ่ำ แกนหวานกรอบ รับประทานแล้วไม่กัดลิ้น
ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว รวม 156 สินค้า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 40,000 ล้านบาท ความสำเร็จดังกล่าวช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ด้วยสินค้า GI และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนท้องถิ่น ช่วยผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อยไม่ให้ถูกกดราคาสินค้าเกษตร ยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นของไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยในปี 2565 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายขึ้นทะเบียน GI ไทยเพิ่มอีก 18 สินค้า
ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จะนำคณะกรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการสินค้า GI ผ้าไหมสาเกต เพื่อมอบใบประกาศการขึ้นทะเบียน GI ให้แก่ผู้แทนจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมผลักดันให้มีการจัดทำระบบควบคุมมาตรฐานสินค้า GI เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค
ตลอดจนส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดยุคใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สินค้า GI ไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึง สร้างรายได้สู่ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน