‘แอพเวิร์คส์’ลั่นยึด  M-Flow มอเตอร์เวย์-ทางด่วน ทุกเส้นทาง

29 เม.ย. 2565 | 01:00 น.

“แอพเวิร์คส์” ประกาศประมูลระบบ M-Flow ทุกเส้นทาง หลังคว้าโปรเจ็กต์ นำร่องมอเตอร์เวย์ สาย 9 ตรวจสอบเบื้องลึก เปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทมาแล้ว 3 ครั้ง เป็นขาประจำรับงานภาครัฐ สร้างอาณาจักรไอที 400 ล้าน

 

จากปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษ (ทางด่วน) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมมีนโยบาย นำ  M-Flow ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Free Flow) มาใช้เพื่อให้การเดินทางเกิดความคล่องตัวไม่มีสะดุด

 

 

โดยใช้เทคโนโลยี AI มาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลแบบ Video Tolling แทนการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบระบบไม้กั้น

 

              

 

ข้อดีของ M-Flow คือใช้บริการผ่านทางได้ก่อนและชำระเงินภายหลัง  ต่างจากระบบ ผู้ใช้บัตร Easy Pass ชำระเงินผ่านระบบก่อน แต่มีจุดหมายเดียวกัน คือ สามารถเดินทางผ่านระบบแบบไม่ต้องสะดุด

 

เริ่มนำร่องมอเตอร์เวย์หลายเลข 9 บริเวณด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 และในอนาคตจะมีการขยายการประมูลไปในหลายเส้นทางทั้งทางด่วนและมอเตอร์เวย์

คว้าเค้กก้อนโต ลั่นลุยประมูลต่อ

              

 

สำหรับบริษัทผู้ชนะการประมูล M Flow หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นบริษัทขนาดเล็กแต่มีพลังสามารถคว้างานขนาดใหญ่ได้หลายรายการในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งวงในกลุ่มบริษัทผู้รับเหมามองว่าอาจจะมีนักการเมืองรายใดรายหนึ่งให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังหรือไม่

              

 

แหล่งข่าวจากบริษัท แอพเวิร์คส์ จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ได้ยื่นประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ในนาม กิจการร่วมค้า สมาร์ทโทรล คอลเลคชั่น ซึ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งระบบตรวจจับทะเบียนรถเรียกเก็บค่าผ่านทางตามปกติ

 

 

โดยมีสัญญาแบบปีต่อปีกับกรมทางหลวงรับจ้างดูแลบริหารจัดการระบบ ซ่อมบำรุง ส่วนการเก็บเงินจะเป็นหน้าที่ของกรมทางหลวง ซึ่งจะต่างจาก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่รับสัมปทานจัดเก็บค่าผ่านทาง ทั้งนี้บริษัทยืนยันว่าได้งานมาด้วยความสามารถไม่มีใครอยู่เบื้องหลังแต่อย่างใด

              

 

อย่างไรก็ตาม จากที่จะมีการประมูลระบบ M-Flow ในหลายเส้นทางบริษัทจะเข้าร่วมประมูลอย่างแน่นอนและมั่นใจว่าจะสามารถคว้างานได้เนื่องจากมีประสบการณ์ ความชำนาญ

 

เปิดข้อมูลคนทำระบบ M-Flow

              

ย้อนรอยหลังจากกรมทางหลวง เปิดให้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow บนทางหลวงพิเศษหมายระหว่างเมืองหมายเลข 9 ไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565

 

โดยได้ว่าจ้างกิจการร่วมค้า สมาร์ทโทรล คอลเลคชั่น ซึ่งประกอบด้วย บริษัท แอพเวิร์คส์ จำกัด และบริษัท โอเอซิส อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการระบบ M-Flow เป็นผู้ดำเนินการ

              

 

ตามสัญญากับกิจการร่วมค้า สมาร์ทโทรล คอลเลคชั่น ได้กำหนดวันเริ่มต้นสัญญาตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.2564 และสิ้นสุดสัญญา 12 เดือน นับตั้งแต่วันเปิดให้บริการ แบ่งเป็น 2 รายการ มีมูลค่าสัญญาจ้าง วงเงินรวม 117.7 ล้านบาท

 

แบ่งเป็น 1.งานตรวจจับยานพาหนะและระบุตัวตนของผู้ใช้บริการที่ใช้ช่องทางระบบ M-Flow แบบอัตโนมัติ ระยะเวลา 12 เดือน ราคาต่อหน่วย 2.85 ล้านบาท เป็นเงิน 34,218,000 บาท และ 2.งานบริหารจัดการระบบสนับสนุนการปฏิบัติงานระบบ M-Flow จำนวน 31.15 ล้านเที่ยววิ่ง ราคาต่อหน่วย 2.68 บาท เป็นเงิน 83,482,000 บาท

              

 

สำหรับการเข้าไปรับงานของหน่วยงานรัฐครั้งนี้ ถือว่าไม่ใช่ครั้งแรก โดยเฉพาะบริษัท แอพเวิร์คส์ จำกัด ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าไปรับงานจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานรัฐหลายร้อยโครงการ

 

ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบข้อมูล จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบข้อมูลว่า บริษัท แอพเวิร์คส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 408/141 อาคารพหลโยธินเพลส ชั้น 33 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพ มหานคร

 

 

จดทะเบียนตั้งบริษัท วันที่ 2 ก.ค. 2542 (22 ปี 9 เดือน) เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ การให้บริการบำรุงรักษาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 80 ล้านบาท

              

 

ส่วนบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน 4 บริษัท คือ บริษัท สยามเทเลคอมแอคเซส จำกัด, บริษัท อะเคเชีย ไอ.ที. เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อินนิซิส จำกัด และ บริษัท

 

 

ซีเอสพีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัท แอพเวิร์คส์ จำกัด ยังไปถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ อีกอย่างน้อย 4 แห่ง คือ บริษัท อารีย์ เวนเจอร์ จำกัด สัดส่วน 90%, บริษัท โบ๊ทเฮ้าส์ โฮลดิ้ง จำกัด สัดส่วน 51%, บริษัท นาคาใหญ่โฮลดิ้งส์ จำกัด สัดส่วน 51% และ บริษัท สมาร์ทโทลคอลเลคชั่น จำกัด สัดส่วน 50%

              

 

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบยังพบว่า บริษัทดังกล่าวยังมีการเปลี่ยนแปลงชื่อมาแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2542 จัดตั้งบริษัท ชื่อบริษัท เน็ตแมตทริกซ์ จำกัด ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2545 เปลี่ยนแปลงชื่อเป็น บริษัท เน็ท เมทริกซ์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2546 เปลี่ยนแปลงชื่อเป็นบริษัท แอพเวิร์คส์ จำกัด

              

 

ส่วนข้อมูลกรรมการ มีนายเชวงศักดิ์ อัศวินนิมิตร นั่งเป็นกรรมการ และมีรายชื่อผู้ถือหุ้น คือนายเชวงศักดิ์ อัศวินนิมิตร สัดส่วน 99.75% มูลค่า 130 ล้านบาท, นายฉัตรไชย อัศวินนิมิตร สัดส่วน 0.13% มูลค่า 163,554 บาท และน.ส.สาริณี อัศวินนิมิตร สัดส่วน 0.13% มูลค่า 163,554 บาท

              

ขณะที่งบการเงินนำส่งปี 2563 พบว่า มีสินทรัพย์รวม 394 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.05% เมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้รวม 380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.28% รายจ่ายรวม 335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.34% โดยมีผลประกอบการมีกำไร 30 ล้านบาท ลดลง 17.60%

              

ส่วนบริษัท โอเอซิส อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 188/123 หมู่ที่ 14 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการจดทะเบียนตั้งบริษัท วันที่ 22 ต.ค. 2550 (14 ปี 6 เดือน) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ การก่อสร้างอาคาร ถนน สะพาน เขื่อน อุโมงค์ งานก่อสร้างทุกชนิด มีทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 463 ล้านบาท

              

โดยมีบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน 4 บริษัท คือ บริษัท ลีดเดอร์ บิลท์ จำกัด ประกอบธุรกิจ รับเหมาก่อสร้าง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ่อยเจนจัด ประกอบธุรกิจ การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย,

 

 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โปรเจ็ค ซีรี่ ประกอบธุรกิจ การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย และบริษัท เปี่ยมท่า โปร คอน จำกัด ประกอบธุรกิจ การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย

              

 

ขณะที่ข้อมูลกรรมการ มีนางสาวณัฐธิดา ปิยพันธุ์เศรณี เป็นกรรมการ และมีรายชื่อผู้ถือหุ้น คือ ณัฐฐา เหมาะดี 100% จำนวน 4,638,748 หุ้น, บุญตัน ศรีบุรี จำนวน 1 หุ้น และมาณพ ชีวะสุขนนท์ จำนวน 1 หุ้น

              

 

ส่วนงบการเงินนำส่งปี 2563 พบว่า มีสินทรัพย์รวม 477 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.747% เมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้รวม 112,750 บาท ลดลง 73.30% รายจ่ายรวม 116,851 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.75% โดยผลประกอบการมีกำไร 8,043 บาท ลดลง 104.90%