นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ดือนมีนาคม - พฤษภาคมทุกปีเป็นช่วงฤดูร้อนของไทย และเป็นช่วงเวลาที่ได้รับความนิยม หรือ High Season ภาคการท่องเที่ยวทั้งของชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามอย่างภาคใต้ของไทย
แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น
โดยปี 2565 ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง และส่งเสริมภาคธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ส่งผลให้การท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งเป็นธุรกิจภาคบริการ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจในพื้นที่ 4 จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และเป็นจังหวัดที่ได้รับการสนับสนุนมาตรการต่างๆ ของรัฐ พบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2565 นักลงทุนได้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่จำนวนมาก
โดยจังหวัดภูเก็ต มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่มากที่สุดถึง 613 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 82) มูลค่าทุนจดทะเบียน 1,666.90 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 102) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดตั้ง 450 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35) ทุน 977.10 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 90) จังหวัดกระบี่ จัดตั้ง 110 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17) ทุน 178.21 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 64) และจังหวัดพังงา จัดตั้ง 43 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16) ทุน 66.81 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14)
นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์ถึงธุรกิจอื่นๆ ในจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ,ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และห้องชุด, ธุรกิจสปา และธุรกิจที่ให้บริการสำรองการท่องเที่ยว อาทิ การให้บริการเช่ารถและตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ
พบว่า ไตรมาสแรกของปี 2565 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในภาพรวมมีการเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนด้วยเช่นกัน โดยธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร มีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 83 (เพิ่มขึ้น 33 ราย) ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และห้องชุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 169 (เพิ่มขึ้น 22 ราย) ธุรกิจสปา เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 (เพิ่มขึ้น 3 ราย) และธุรกิจที่ให้บริการสำรองการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 400 (เพิ่มขึ้น 4 ราย)
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและประเทศอย่างชัดเจน ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศ และการปรับปรุงมาตรการ Test & Go สำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศแล้ว น่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของภาคธุรกิจไทยที่มีการปรับตัวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ยังจะเป็นการตอบรับแนวทางในการปรับโรคโควิด-19 ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 อีกทางหนึ่งด้วย