น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... โดยแก้ไขให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนและไม่รับเงิน หรือทรัพย์สินตามเวลา จะไม่ถูกยึดเงินหรือทรัพย์สินเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตกเป็นของแผ่นดิน
มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาการขอรับทรัพย์สินหรือเงินของเจ้าของ
รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางส่วนเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประชาชนได้รับความคุ้มครองในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอย่างเป็นธรรม
สำหรับบทบัญญัติที่มีการแก้ไข ประกอบด้วย การกำหนดให้ในการรื้อถอนโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือ อสังหาฯ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่แจ้งให้เจ้าของทรัพย์มารับทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนคืนไปภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วเจ้าของไม่มารับทรัพย์สินคืนไป ให้เจ้าหน้าที่ขายทรัพย์สินนั้นโดยวิธีการขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นตามที่เห็นสมควรแล้วนำเงินที่ได้จากการขายส่งคืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน
หากเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ขยายทรัพย์สินนั้น และเจ้าของมารับคืน ให้เจ้าหน้าที่คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าของไป ในส่วนนี้ได้แก้ไขจากเดิมที่กฎหมายได้กำหนดว่า กรณีที่เจ้าของไม่ได้เรียกเอาทรัพย์สินหรือเงินที่เจ้าหน้าที่เก็บรักษาไว้ ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่มีการรื้อถอนหรือขนย้าย ให้ทรัพย์สินหรือเงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเด็นต่อมาที่มีการแก้ไข คือ ในกรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่มารับภายใน 5 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับเงินค่าทดแทนหรือนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่ได้ฝากเงินไว้ ให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ถอนเงินค่าทดแทนที่วางไว้ต่อศาล หรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน เพื่อส่งคืนคลัง
โดยไม่ตัดสิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่จะยื่นคำร้องขอรับเงินค่าทดแทนคืนภายหลังจากพ้นระยะเวลาดังกล่าว ส่วนนี้แก้ไขจากบทบัญญัติเดิมที่กำหนดว่า เงินค่าทดแทนที่วางไว้ถ้าผู้มีสิทธิไม่ไปขอรับเงินภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีหนังสือแจ้งหรือวันที่ปิดประกาศ ให้เงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
นอกจากนี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลผู้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลครอบคลุมถึงผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในทุกกรณี โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลและมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน ซึ่งผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ได้แก่ เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืน เจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เจ้าของต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดิน หรือผู้เช่าช่วงที่ดิน โรงเรือน
หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืนและผู้ที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากต้องออกจากอสังหาฯ ที่ต้องเวนคืน ในส่วนนี้ แก้ไขจากบทบัญญัติเดิมที่กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งอสังหาฯ โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลและมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน