วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมการดำเนินงานระดับโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้โครงการหนึ่งประเทศหนึ่งผลิตภัณฑ์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (The Global Action on Green Development of Special Agricultural Products: “One Country One Priority Product” (OCOP) FAO Regional Office for Asia and the Pacific)
โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี ฉบับใหม่ของ FAO ที่มุ่งเน้นการพลิกโฉมระบบการเกษตรและอาหารที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และยังสอดคล้องกับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินนโยบายการเกษตร 3S ว่าด้วย 1) ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) 2) ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร (Security) และ 3) ความยั่งยืน (Sustainability) และวาระแห่งชาติตามกรอบยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวของภาคการเกษตรและอาหาร
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินงานพัฒนาภาคการเกษตรในรูปแบบระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาแบบบูรณาการทรัพยากรธรรมชาติทั้ง 5 อย่างเข้าด้วยกัน ได้แก่ ระบบนิเวศ ดิน ป่าไม้ ที่ดิน และน้ำ ซึ่งการพัฒนาในรูปแบบนี้จะครอบคลุมถึงวิถีชีวิตของเกษตรกร กระบวนการผลิต และการจัดการตลอดห่วงโซ่ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ นําไปสู่การพึ่งตนเองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหาร
แผนงานการพัฒนาสินค้าเกษตรชนิดพิเศษสีเขียว (SAP - Special Agricultural Products) เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์นำร่องในโครงการหนึ่งประเทศหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OCOP) เนื่องจากประเทศไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพและมีคุณสมบัติเป็นสินค้าเกษตร SAP ได้หลากหลายชนิด จึงขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนอตัวอย่างการพัฒนาสินค้าเกษตร SAP
อาทิ พืชผักสมุนไพร โดยมีการใช้ประโยชน์หลากหลายทั้งในการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ ยารักษาโรค อาหารเสริม และเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางค์ ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมพืชผักสมุนไพรไทยมาอย่างต่อเนื่อง มีการนำ BCG Model เข้ามาร่วมพัฒนาในด้านเศรษฐกิจรากฐานชีวภาพ เน้นใช้วัตถุดิบหลากหลายผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการผลิตที่มีมาตรฐาน GAP การวิจัยและพัฒนา ในการปลูกพืชผักสมุนไพร อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ
ดร.เฉลิมชัย กล่าวย้ำว่า ความสำคัญของความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสนับสนุนโครงการหนึ่งประเทศหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้เกิดเป็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่ระบบเกษตรและอาหารที่มีความยั่งยืนสำหรับประชากรโลกทุกคน