การเดินทางเยือน กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ (ASEAN-U.S. Special Summit) ครั้งที่ 2 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ตามคำเชิญของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
นอกจาการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ แล้ว ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการหารือกับผู้นำภาคเอกชนสหรัฐ โดยจัดการหารือแบบ “โต๊ะกลม”ระหว่างรับประทานอาหารเช้า ซึ่งมีการเชิญผู้บริหารสูงสุดของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย
ทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี การเกษตร การแพทย์ และพลังงาน ราว 10 บริษัท มาร่วมหารือแบบกลุ่มเล็ก นับเป็นโอกาสอันดีที่ นายกรัฐมนตรี จะได้พูดถึงแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน เพื่อสานต่อนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย
สำหรับการหารือกับผู้นำภาคเอกชนนั้น ประกอบไปด้วย
โดยผู้นำเอกชนซึ่งเป็นสมาชิกใน 3 องค์กรดังกล่าว ถือเป็นผู้นำด้านธุรกิจที่สำคัญของโลก ครอบคลุมอุตสาหกรรมสุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ขนส่ง การผลิต การเงิน เช่น Abbott, Adobe, Amazon, Boeing, Citi, Mastercard, Meta, FedEx, Marriott, Airbnb, Ford, Tesla, Google, Microsoft, P&G, Johnson & Johnson, Pfizer, Chevron และ Visa เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2564 นายกรัฐมนตรี เคยประชุมร่วมกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน แล้วครั้งหนึ่ง ผ่านรูปแบบผสมระหว่างการเข้าพบหารือและการประชุมทางไกล โดยมีผู้บริหารภาคเอกชนสหรัฐฯ กว่า 49 บริษัทเข้าร่วมหารือถึงแนวทางความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างกัน
ทั้งนี้ผู้แทนจากบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ได้กล่าวแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น บริษัทด้านพลังงานและอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ Chevron Ford Tesla GE กล่าวยกย่องในการเป็นผู้นำของไทยที่เข้าร่วมการประชุม COP26 และมีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2050
โดยบริษัทยืนยันความต้องการเป็นหุ้นส่วนกับไทยในการที่จะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน โดยเน้นการดำเนินการธุรกิจและผลิตสินค้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการใช้พลังงานคาร์บอน
ขณะที่บริษัททางด้านสาธารณสุข เวชภัณฑ์ ยา อาทิ 3M Pfizer Johnson&Johnson MSD มีความประสงค์ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข อ.ย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือกับปัญหาด้านสุขภาพ ยารักษาโรค การผลิตเวชภัณฑ์ป้องกันการแพร่ระบาด และยินดีร่วมมือทางด้านสาธารณสุขเพื่อสนับสนุนนโยบายการเปิดประเทศ
เช่นเดียวกับบริษัทด้านการท่องเที่ยว อาทิ Marriott Agoda Airbnb แสดงความมั่นใจในอนาคตของไทยในฐานะศูนย์กลางของการท่องเที่ยว พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สนับสนุนการจ้างงานในชุมชมท้องถิ่น และขอบคุณมาตรการต่าง ๆ ของไทยเพื่อเปิดประเทศตามมาตรการอย่างปลอดภัย และขอให้พิจารณาขยายการเดินทางให้แก่ประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม