ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานเทศกาลผลไม้และของดีอำเภอแกลง ประจำปี 2565 ปีที่ 40 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤษภาคม 2565 โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายธารา ปิตุเตชะ นายบัญญัติ เจตนจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ สถานีบริการน้ำมันบางจาก (ไต๋ ปิโตรเลียม)
พร้อมกันนี้ได้มอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้ชนะการประกวดผลไม้ มอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้สนับสนุนการจัดงาน มอบป้ายมาตรการด้านความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ในผลไม้เพื่อการส่งออกของจังหวัดระยอง (Zero COVID Rayong Fruit : ZCRF) พร้อมเยี่ยมชมการจำหน่ายผลไม้ ชิมทุเรียนหลากสายพันธุ์จากสวนบ้านเรา หมู่ที่ 8 ต.กระแสบน อ.แกลง จ.ระยอง และร่วมกิจกรรมทอดทุเรียนกระทะยักษ์
สำหรับการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงแหล่งผลิตผลไม้ที่ดี มีคุณภาพ เพิ่มศักยภาพในด้านการจำหน่ายผลไม้ของเกษตรกร สร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรที่ผลิตผลไม้เป็นอาชีพหลัก และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับอำเภอแกลงอีกทางหนึ่ง
สำหรับปริมาณผลผลิตของไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ของเดือนเมษายน 2565 ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด พบว่า ผลผลิตของผลไม้ทั้ง 4 ชนิด มีจำนวนรวม 1,189,522 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 903,865 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 32) เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ส่งผลให้เอื้อต่อการออกดอกและติดผล แม้จะมีภัยธรรมชาติจากลมพายุช่วงปลายปี 2564 และเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2565 ที่ทำให้ดอกและลูกร่วงเสียหาย แต่ในภาพรวมปริมาณผลผลิต ยังคงมากกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผลผลิตได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ และจะออกต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนกันยายน 2565 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 (คิดเป็นร้อยละ 51 ของผลผลิตทั้งหมด) ทำให้ผลผลิตผลไม้ไทยปีนี้อาจเพิ่มขึ้นถึง 32% กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องเตรียมมาตรการรับมือ เพื่อไม่ให้ผลไม้กระจุกตัวและเกิดปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกผลไม้สูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.6 แสนล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนส่งออกทะลุแสนล้านบาทเป็นครั้งแรก
ในส่วนของมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ได้มีการบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ เป็นมาตรการหลักในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 17 มาตรการ อาทิ 1) มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง 2) มาตรการช่วยผู้ประกอบการ หรือเกษตรกร หรือล้ง กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 80,000 ตัน 3) มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกโดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ปริมาณ 60,000 ตัน
4) ร่วมบูรณาการระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนให้มีการใช้พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านผลไม้ โดยจะสนับสนุนให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเกษตรกรได้ทราบว่าขายผลไม้ได้เท่าไหร่ มีคนซื้อที่มีหลักประกัน เซ็นสัญญาตามกฎหมายชัดเจนไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน และ 5) มาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ เป็นต้น
"การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรในด้านการจำหน่ายสินค้าการเกษตร และเป็นประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวในอำเภอแกลง จึงอยากให้เกษตรกรรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจังหวัด รวมถึงขยายโอกาสทางการตลาดไปสู่ภายในและภายนอกประเทศ และพัฒนาเป็นเกษตรอุตสาหกรรมและเกษตรท่องเที่ยวได้” ดร.เฉลิมชัยกล่าว และว่า
สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ อยากมาร่วมแสดงความยินดีที่จังหวัดระยองประสบความสำเร็จที่ผลไม้ของจังหวัดระยอง โดยเฉพาะทุเรียน สามารถนำเงินเข้าจังหวัดมาได้กว่าหมื่นล้านบาทต่อปี และที่สำคัญเป็นเม็ดเงินที่มาถึงมือพี่น้องเกษตรกรโดยตรง จึงอยากมาร่วมยินดีกับความสำเร็จกับเกษตรกรและทุกภาคส่วน ที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้ประสบความสำเร็จไปข้างหน้า และในอนาคตต้องการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับพี่น้องเกษตรกรให้มากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะเข้ามาสนับสนุนเกษตรกร และมุ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรทุกกลุ่มต่อไป
ชมคลิป ผลไม้ไทยผลไม้โลก ทุเรียนแสนล้านฝ่าด่าน ZERO COVID