วันที่ 18 พ.ค. 2565 เมื่อเวลา 15.00 น. นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนจังหวัดภูเก็ต ร่วมต้อนรับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
โดยมีนายสุทา ประทีป ณ ถลาง นายนัทธี ถิ่นสาคู ส.ส.ภูเก็ต นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และคณะ ร่วมงาน ในโอกาสเดินทางมาเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 10 จังหวัดภูเก็ต และยุติธรรมพบประชาชน ณ White House โบ๊ท ลากูน รีสอร์ท ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน รวมทั้งได้กำหนดประเด็นต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ การแก้ไขปัญหาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นต้น
ในการนี้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ได้บูรณาการร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และสถาบันการเงิน จัดกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนทั่วประเทศขึ้น โดยนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ด้านนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 10 จังหวัดภูเก็ต และยุติธรรมพบประชาชน ได้รับความร่วมมือจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และสถาบันการเงินอีก 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน , ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารกสิกรไทย, บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ท จำกัด(มหาชน) , บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด, บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) รวมทั้งได้เชิญลูกหนี้ เข้าร่วมงานทั้งสิ้น จำนวน 2,810 ราย ราคาทุนทรัพย์จำนวน 223,728,892.53 บาท
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการมอบเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา จำนวน 2 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 186,702 บาท และมอบป้ายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน จำนวน 5 ศูนย์ ที่จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติ
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพื่อช่วยลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ได้เแก่ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต(วัดควน) ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต(สามกอง), ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต, ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตและ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต
และภายในงานได้จัดบูธกิจกรรมให้บริการต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจังหวัดพัทลุง และธนาคารแห่งประเทศไทย มาให้ความรู้ด้านการเงินแก่ผู้ร่วมงานด้วย
ทั้งนี้ ขณะที่รัฐมนตรียุติธรรมเดินชมบูธ ในงาน นายวงศกร ชนะกิจ ประธานกลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ต เป็นตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นหนังสือ ต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อทราบปัญหาในภาพรวมของผู้ประกอบการธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต และขอความช่วยเหลือออกนโยบายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ธุรกิจ เพื่อให้กระทรวงยุติธรรมออกมาตรการช่วยเหลือ ในระยะเร่งด่วน อีกด้วย
ในหนังสือร้องเรียน ระบุภาพรวมปัญหา ของผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง ภาคธุรกิจโรงแรมใน จ.ภูเก็ต ว่าเผชิญปัญหาจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมใน จ.ภูเก็ต ทำให้รายได้ธุรกิจลดลง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของจังหวัดภูเก็ตลดลงมาก เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ได้แก่
- ภัยโรคระบาดไวรัสโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีน จัดเป็นกลุ่มลูกค้าหลักอันดับ 1 ของพื้นที่ จ.ภูเก็ต ปัจจุบันจีนยังคงนโยบาย Zero Covid ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้
- ภัยสงครามรัสเซีย – ยูเครน นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย จัดเป็นกลุ่มลูกค้าอันดับ 2 ของพื้นที่ จ.ภูเก็ต ปัจจุบันเกิดภาวะสงคราม ทำให้ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้
-ฤดูกาลท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต เวลานี้เข้าสู่ช่วง Low Season (เดือน เม.ย. - ต.ค. ของทุกปี) นักท่องเที่ยวชาวยุโรปและสแกนดิเนเวียไม่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต ในช่วงดังกล่าว
• ต้นทุนบริการเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วต่อเนื่อง กระทบต่อต้นทุนสินค้าทุกภาคส่วน ส่งผลต่อต้นทุนการบริหารธุรกิจโดยตรง
ขณะที่ยังผชิญปัญหาจากปัจจัยภายใน กระทบธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมใน จ.ภูเก็ต คือ ต้นทุนและภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ปัจจุบันนโยบายการช่วยเหลือผ่อนปรนเงื่อนไขชำระหนี้กับทางสถาบันการเงินครบกำหนด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก - กลาง ไม่ได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือ สถาบันการเงินเริ่มกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่างวดชำระหนี้ตามเงื่อนไขปกติ
ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามเงื่อนไข เนื่องจากรายได้ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ดังจะเห็นได้จากตัวเลขสถิติของธนาคารเริ่มมีอัตราลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้และชำระหนี้ล่าช้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากภายใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม คาดว่าจะเป็นหนี้มีปัญหา NPL กับสถาบันการเงิน และคงนำไปสู่ปัญหาการยึดทรัพย์ขาดทอดตลาดในอนาคตอันใกล้
ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ เนื่องจาก ช่วงโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจำนวนมาก ภาครัฐจึงมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรม โดยรณรงค์ส่งเสริมให้คนในประเทศช่วยกันเดินทางไปท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมากขึ้น ผ่านหลายโครงการ เช่น ไทยเที่ยวไทย เป็นนโยบายจากภาครัฐที่มีส่วนช่วยกระตุ้นและเพิ่มกำลังซื้อให้ภาคประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมเริ่มมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ แต่ด้วยช่องโหว่จากเงื่อนไขการใช้สิทธิบางประการ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมประสบปัญหา ได้แก่
- ปัญหาคดีความกับภาครัฐ นโยบายที่เกิดจากเจตนาดี กลับมีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต โดยประชาชนบางกลุ่มฉวยโอกาสนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ร่วมกับทางผู้ประกอบการบางรายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และบางรายที่กระทำด้วยความจำเป็น เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมใน จ.ภูเก็ต โดยเฉพาะขนาดเล็ก - กลาง มากกว่า 100 ราย อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและดำเนินคดีจากทางภาครัฐ ซึ่งทำให้สถานประกอบการต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้ตามปกติ โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังไม่รู้ชะตากรรมในอนาคต ว่าจะสามารถกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้อีกครั้งเมื่อไหร่
โดยหนังสือร้องเรียนขอให้กระทรวงยุติธรรม ออกนโยบายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการช่วยเหลือระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย
- ขอพักชำระหนี้เงินต้นทุกวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงิน ระยะเวลา 12 เดือน เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้รายเดือนให้กับผู้ประกอบการ ในช่วงที่ภาวะการณ์ท่องเที่ยวจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
-ขอลดอัตราดอกเบี้ยทุกวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงิน โดยขอให้ปรับลดการคิดอัตราดอกเบี้ยทุกวงเงินสินเชื่อ คงเหลือ 2% ต่อปี ระยะเวลา 12 เดือน เพื่อเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ
- ขอยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ทุกวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงิน สำหรับลูกหนี้ที่ประวัติดี ผ่อนชำระหนี้ตามเงื่อนไขปกติมาโดยตลอด แต่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนเม.ย.2565 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการเริ่มมีรายได้ลดลง เพื่อเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงิน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับลูกหนี้ชั้นดี
- ขอสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ Soft Loan อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี (โดยขอให้ปลอดการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย 12 เดือน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้มีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ในการประคับประคองธุรกิจให้ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน เช่น เงินเดือนพนักงาน , ค่าเช่า , ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น
-ขอให้ภาครัฐเร่งออกนโยบายช่วยเหลือ ควบคุมต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าขนส่งสินค้า ให้กับผู้ประกอบการ SME เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการมิให้แบกรับต้นทุนค่าสินค้า และค่าบริการที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการบริหารธุรกิจ ในช่วงที่ภาวะการณ์ท่องเที่ยวยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
-ขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งจัดตั้งกองทุนพิเศษ สำหรับเตรียมเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะราย ที่ไม่มีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยกองทุนสามารถเข้าไปรับซื้อสถานประกอบการ/ร่วมลงทุน(ซื้อหุ้น) และกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรายเดิมสามารถซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นคืนจากกองทุนได้ ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นการช่วยป้องกันกลุ่มนักลงทุน ที่จ้องฉวยโอกาสเจรจาต่อรองราคา และเข้าซื้อสถานประกอบการในมูลค่าต่ำกว่าราคาตลาด จากผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผู้ประกอบการที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองในภูมิภาคอันดามัน เห็นว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อผลกระทบของ Covid -19
ปัญหาที่จะตามมาก็คือ การขาดสภาพคล่อง และเครดิตทางการเงินที่มีต่อสถาบันทางการเงินลดลง ดังนั้นการปรับตัวทางธุรกิจ (transform business) จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะให้ผู้ประกอบการและองค์กรอยู่รอด หนึ่งในนั้นคือการขับเคลื่อน Andaman Wellness Corridor -AWC หรือระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน ที่จะสามารถยกระดับโรงแรมที่พักต่าง ๆ ให้หลุดพ้นจากสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการแบบที่ผ่านมา
ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นเค้กก้อนใหญ่ ที่เราสามารถชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ด้วยศักยภาพการบริการ และจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีจุดหมายมายังประเทศไทย และเชื่อเหลือเกินว่า Wellness Tourism จะเป็นสินค้าตัวใหม่ ให้ผู้ประกอบการได้พบทางรอดที่แท้จริง ทั้งนี้ จะต้องอาศัยการผลักดันด้านนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐในทุก ๆ มิติ และที่ขาดไม่ได้คือสถาบันทางการเงิน จำเป็นต้องช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจได้ต่อลมหายใจ เพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการรองรับตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ซึ่งสุดท้ายแล้วมูลค่าที่จะเกิดขึ้น จะเป็นตัวนำพาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว ให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นไปได้
ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี.เกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว อาทิ รถ เรือ ร้านอาหาร โรงแรมขนาดเล็กและกลาง ต้องได้รับการเยียวยาและช่วยเหลือโดยด่วน โดยตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในจังหวัดภูเก็ตและอันดามัน โดยการให้หน่วยงานกลางมาช่วยกันขับเคลี่อนด้วย เป็นการนำเสนอที่ทำงานได้จริง และมีอำนาจเฉพาะในเรื่องนี้