ประเทศไทยกำลังเดินสู่การประกาศโควิด- 19 เป็นโรคประจำถิ่นโดยทะยอยคลายมาตรการเปิดพื้นที่ให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนเพิ่มเป็นลำดับ เศรษฐกิจไทยกลับมาค่อยขยายตัว โดยไตรมาส 1/2565 โตได้ 2.2% เพิ่มจาก 1.8% ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกันการจ้างงานที่เริ่มกลับมา ตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.53% ตํ่ากว่า 1.64% ในไตรมาสก่อนหน้า และตํ่ากว่า 1.96% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
แม้ในภาพรวมปัญหาการ ว่างงานเริ่มคลี่คลาย แต่มองย้อนช่วงเกือบ 3 ปีของการระบาดเชื้อโควิด-19 กำลังแรงงานที่ตกหล่มภัยพิบัติโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน กลายเป็นคนตกงาน ยืดเยื้อเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเสี่ยงมีแผลเป็นของ “ช่องว่างทักษะ-Skill Gap” ทำให้โอกาสจะมีงานทำได้ยากในระยะถัดไป
พิมพ์ชนก โฮว เกวลิน ศรีวิชยางกูร และ ภัทรียา นวลใจ จากสำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิจัยเรื่อง Youth Unemployment : ส่องตลาดแรงงานเด็กจบใหม่ยุค COVID-19 ระบุ การว่างงานของเด็กจบใหม่ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว และถูกซํ้าเติม ด้วยการระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะเยาวชนว่างงาน (อายุ 14-26 ปี) ที่เพิ่มมากกว่าปกตินับแสนคน ทั้งที่มีศักยภาพจะเป็นแรงงานฝีมือในอนาคต
ขณะที่ค่านิยมสังคมไทยมุ่งให้บุตรหลานเรียนระดับอุดมศึกษาและส่วนใหญ่เป็นสาขาสังคมศาสตร์ศิลปศาสตร์ ขณะที่ตลาดแรงงานต้องการกลุ่มอาชีพพื้นฐาน เช่น แม่บ้าน แรงงานทั่วไป ที่เน้นวุฒิตํ่ากว่าปริญญาตรี ตำแหน่งงานที่ต้องการเช่น โปรแกรมเมอร์ Data Scientist ก็หายาก เป็นสาขาที่มีคนจบน้อย
เด็กจบใหม่จำนวนมากปรับตัวไปทำอาชีพอิสระในภาคการค้าและบริการแทน ซึ่งพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 46,000 คน ในปี 2562 เป็น 56,000 คน ในปี 2564 ขณะที่นายจ้างก็หันไปลงทุนใช้ระบบออโตเมชั่นในการผลิตลงทุนระบบไอทีลดภาระงานเอกสาร ลดจ้างคนหรือให้ทำงานหลากหน้าที่มากขึ้น
ทีมวิจัยชี้อีกว่า การว่างงานของเด็กจบใหม่นับเป็นปัญหาสำคัญและมีแนวโน้มจะเกิดผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดช่องวางทักษะการทำงาน (Skill Gap) หากคนกลุ่มนี้ว่างงานยาวนานเกิน 2-3 ปี จะยิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น ขณะที่มีเด็กจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละ 400,000-500,000 คนทบเข้ามาทุกปี
การระบาดเชื้อโควิด-19 ยิ่งซํ้าเติม เด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่มมากขึ้น โดยพุ่งขึ้นแตะ 290,000 คน ในไตรมาส 2/2564 โดยเฉพาะกลุ่มที่จบระดับอุดมศึกษา แม้ปัจจุบันจะลดลงแต่ยังสูงกว่าอัตราเฉลี่ยก่อนเกิดโควิด-19 และเมื่อแยกตามอายุพบว่า กลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) มีอัตราการว่างงานถึง 7.2% เทียบกับอัตราเฉลี่ยที่อยู่ที่ 1.6%
ทั้งนี้ สาขาที่ยังมีผู้ว่างงานสูงที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 คือ ภาคบริการและการค้า โดยเฉพาะในกทม. ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งเป็นสาขาที่เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่เลือกเรียนมา จึงยิ่งซํ้าเติมปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ ที่ทำให้มีแนวโน้มหางานได้ยากขึ้น
ในแง่พื้นที่การว่างงานของเด็กจบใหม่รุนแรงมากขึ้นทุกภูมิภาคโดยบัณฑิตจบใหม่ในภาคเหนือ อีสานและใต้ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานและว่างงานมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 80% 73% และ 67% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19
ข้อมูลการย้ายถิ่นของประชากรปี 2563 ยังพบด้วยว่า อัตราการย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาของประชากรวัย 15-24 ปี มีสัดส่วนสูงสุดในช่วงการระบาดโควิด-19 และคาดว่ายังไม่สามารถหางานทำได้จนถึงปัจจุบันทำให้ตลาดแรงงานภูมิภาคมีความเปราะบางมากขึ้น ขณะที่ในภาคกลางธุรกิจกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ไวกว่าภูมิภาคอื่นนั้น ทำให้เริ่มรองรับเด็กจบใหม่ให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งงานได้มากกว่าพื้นที่อื่น
ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการบรรเทาปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ ทั้งโครงการร่วมจ่ายที่อุดหนุนให้ธุรกิจจ้างงานแรงงานใหม่ โดยภาครัฐช่วยค่าจ้างให้ครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี หรือหน่วยงานภาครัฐจัดโครงการพิเศษเพื่อจ้างงานชั่วคราว ทำให้ปัญหานี้ทุเลาลงได้บ้าง
ในระยะยาวการมียุทธศาสตร์ชัดเจน เช่น ไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม เขตพัฒนาพิเศษอีอีซี เป็นกรอบในการวางแผนกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานยิ่งขึ้น แต่สำหรับการว่างงานของเด็กจบใหม่ในช่วงโควิด-19 ที่มีจำนวนนับแสนคนที่ยังตกค้างอยู่นั้น เป็นปัญหาพิเศษที่หากทิ้งให้ยืดเยื้อ 2-3 ปี จะทำให้เกิดปัญหา Skill gap ทำให้แข่งขันในตลาดแรงงานได้ยากขึ้น
เป็นกลุ่มที่หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องต้องเร่งเข้าไปดูแลและฉุดให้พ้นหล่ม “ว่างงานยืดเยื้อ” ให้เป็นกำลังแรงงานที่จะสร้างผลิตภาพให้ระบบเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มศักยภาพ
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,785 วันที่ 22-25 พฤษภาคม พ.ศ.2565