สถาบันจัดการน้ำ อีกก้าวของการบูรณาการ สทนช.

20 พ.ค. 2565 | 10:54 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2565 | 18:05 น.

สถาบันจัดการน้ำ (Water Academy)อีกก้าวของการบูรณาการ สทนช.เครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และความคิด เพื่อเชื่อมโยงกัน

 

 

หน่วยงานกลางด้านการบริหารจัดการน้ำ อย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีเครื่องมือช่วยบริหารจัดการน้ำหลายอย่างที่เป็นเทคโนโลยีทันสมัย เช่น แอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน และช่วยประกอบการตัดสินใจดีขึ้นแต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เติมเต็มในความรู้สึกของ

 

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. คือทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องบูรณาการกันมากขึ้นไม่ใช่แต่บุคลากรใน สทนช. เท่านั้น หากยังหมายรวมถึงบุคลากรจากหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ ไม่ว่าหน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน

สถาบันจัดการน้ำ อีกก้าวของการบูรณาการ สทนช.

 

รัฐวิสาหกิจ อย่างเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค  
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล กระทั่งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เป็นต้น    
    

ไม่ใช่บูรณาการผ่านเครื่องมือหรือการประชุมร่วม หรือโดยอำนาจของ สทนช. เท่านั้น หากยังมีหลักสูตรหลอมรวมใจบรรดาผู้คนหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำเข้าด้วยกันเป็นที่มาของแนวคิด Water Academy แปลแบบกว้างๆ คือ สถาบันฝึกอบรมการบริหารจัดการน้ำ

 

“เป็นสถาบันที่เปิดให้หน่วยงานเกี่ยวข้องด้านน้ำ ส่งคนเข้ามาฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด และเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และความคิด เพื่อเชื่อมโยงกัน” ดร.สุรสีห์กล่าวก่อนย้ำว่า “หลักบริหารจัดการน้ำ แยกส่วนกันไม่ได้”
 


ภาพ Water Academy ในความคิดของ ดร.สุรสีห์ เลขาธิการ สทนช. คือ เป็นตัวช่วย สทนช. ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอีกแรงหนึ่ง โดยมีมุมมองที่น่าสนใจว่า การได้อยู่ร่วมอบรมด้วยกัน เป็นการละลายพฤติกรรม ไม่มองเฉพาะผลประโยชน์เฉพาะส่วนงานตัวเองอย่างเดียว หากยังมองครอบคลุมถึงผลประโยชน์โดยรวม ช่วยให้การบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

 

 

หากรู้จักกัน การพูดคุย แสวงหาความร่วมมือจะง่ายกว่า” ขณะเดียวกัน เลขาธิการ สทนช. ยังมองว่า นอกเหนือจากตัวหลักสูตรทำให้ทุกหน่วยได้เรียนรู้ความต้องการของตัวเองแล้ว ยังเรียนรู้ความต้องการของหน่วยงานอื่นด้วย เห็นทั้งภาพย่อยและภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำได้ชัดเจนขึ้น

 

เปรียบเทียบ สทนช. เป็นหน่วยงานใหม่ ไม่ต่างจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งจัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับกรม เมื่อปี 2556 เมื่อครั้ง ดร.สุรสีห์ เป็นอธิบดี ต้องวางรูปแบบ หล่อหลอมเจ้าหน้าที่ที่มาจากหลายแหล่งให้เป็นทีมเดียวกัน มีเป้าหมายหลักในการทำงานเพื่อสิ่งเดียวกัน เป็นความยุ่งยากไม่น้อย แต่ก็สามารถขับเคลื่อนภารกิจและเป้าหมายได้

 

“เป็นความฝันและอยากสร้าง Water Academy ขึ้นมา เพราะเชื่อว่า เป็นการสร้างเครือข่ายน้ำทุกภาคส่วนและดึงเอาศักยภาพมาช่วยขับเคลื่อนงานบริหารจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ดร.สุรสีห์ย้ำ

 

ถ้าดูจากการจัดตั้งหน่วยงานระดับกองใหม่ภายใน สทนช. ทำหน้าที่ฝึกอบรมบุคลากรทั้งภายใน สทนช. และภายนอกด้วยแล้วน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อม ในการเดินหน้าสู่การจัดตั้ง Water Academy ควบคู่ไปกับการบูรณาการเหมือนอย่างที่แล้วมา

 

ถือเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่งของโครงการ Water Academy ของ สทนช. กันแล้ว
ทั้งนี้หาก เป็นไปตามที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. วาดเอาไว้ Water Academy ก็จะเป็นเครื่องมือทรงพลังชิ้นหนึ่งในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้ สทนช. ในอนาคตอันใกล้นี้