“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ตอบข้อสงสัย 11 ข้อ เหตุลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.2565 เช็คเลย

23 พ.ค. 2565 | 07:36 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2565 | 15:24 น.

“ชัชาติ สิทธิพันธุ์” ตอบข้อสงสัย 11 ข้อ เหตุผลที่สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่ากทม.2565 เช็ครายละเอียดทั้งหมดที่นี่

ในที่สุดผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ได้คะแนนสูงสุด 1.3 ล้านคะแนน

 

เมื่อคลิกเข้าไปดูในเว็บไซต์ www.chadchart.com  “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้ตอบข้อสงสัย 11 ข้อ ถึงเหตุผลที่คนกรุงเทพ สงสัยว่าทำไมลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร รายละเอียดดังนี้

 

ทำไมชัชชาติถึงลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม.

  • “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่เกิด ได้เห็นปัญหาและเรียนรู้เมืองกรุงเทพฯ จากหลากหลายมุม ผ่านการใช้ชีวิตไม่ต่างจากพวกเราอีกนับล้าน ๆ คนในกรุงเทพฯ ใช้ขนส่งสาธารณะเป็นประจำ วิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะทุกเช้า เดินถนน กินข้าว ตามข้างทาง รับรู้ถึงปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้องต่าง ๆ ของคนใช้ชีวิตในเมืองหลวง ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร พนักงานเงินเดือน นักธุรกิจ พ่อค้า แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง นักเรียน นักศึกษา ประกอบกับความรู้และประสบการณ์ ที่เคยทำงานทั้งในฐานะวิศวกร อาจารย์ นักวิจัย งานการเมือง นักธุรกิจ ผู้บริหาร งานชุมชน ทำให้ผมมั่นใจว่าจะสามารถเสนอแนวทางที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น ผมเชื่อว่าการทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยคนเพียงคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของคนจำนวนมาก ผมมั่นใจว่าจะสามารถประสานงาน สร้างความไว้ใจ เสริมความร่วมมือร่วมใจของคนทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความสามัคคี ร่วมกันทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน”

 

ทำไมชัชชาติถึงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ

สาเหตุที่ผมตัดสินใจสมัครในนามผู้สมัครอิสระคือ

1. ผู้ว่าฯ​ กทม. มีหน้าที่ต้องทำงานรับใช้ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะมีแนวคิดทางการเมืองแบบใด และต้องทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการและเอกชน

2. การลงในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง ทำให้สามารถหาอาสาสมัครที่มาร่วมงานได้มากขึ้น ลดความขัดแย้ง และมุ่งทำงานได้เต็มที่ เพราะปัจจุบันคนจำนวนมากเบื่อความขัดแย้งทางการเมือง หลายคนไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่อยากมาช่วยหาทางออกให้กรุงเทพฯ​ ดีขึ้น

3. การสมัครในนามอิสระทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน สามารถตัดสินใจและดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านขั้นตอน กฎระเบียบต่าง ๆ ของพรรค และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง

4. การสมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องสังกัดพรรค ซึ่งแตกต่างจากการสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องมีการสังกัดพรรค แสดงให้เห็นว่ากฎหมายเองก็ไม่ได้เห็นความจำเป็นที่ผู้สมัครจะต้องสังกัดพรรคการเมือง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชัชชาติมีผลงานอะไรบ้าง (Project)

ผลงานที่ผ่านมาของชัชชาติ

โครงการสำคัญที่ได้รวมเป็นทีมงานระหว่างการทำงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. เป็นทีมงานผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยจากอัคคีภัย คณะ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2. ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. เป็นทีมงานที่ร่วมในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น จามจุรีสแควร์ อาคารสยามกิตต์ อาคารสยามสแควร์วัน อาคารระเบียงจามจุรี อาคาร CU-I House


โครงการสำคัญที่ได้ร่วมงานและขับเคลื่อนระหว่างที่ทำงานที่กระทรวงคมนาคม

1. โครงการสร้างอนาคตประเทศไทย 2020 เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รวบรวมโครงการสาคัญต่าง ๆ ของกระทรวง คมนาคม

2. การศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง จากโครงการแอร์พอร์ตเรลลิ้งเดิม การลงนาม MOU ระหวา่งไทย-จีน เพื่อศึกษารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย

3. การขับเคลื่อน เร่งรัด การก่อสร้าง โครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม. สายสีแดง (บางซื่อ-ดอนเมือง) สายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือ ใต้ สายสีน้าเงิน และ สายสีม่วง

4. โครงการ PPP ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก

5. โครงการ PPP การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบาง ใหญ่-บางซื่อ

6. การศึกษาความเป็นไปได้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) บางปะอิน-โคราช พัทยา-มาบตาพุด

7. พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ Satellite Terminal

8. การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่สอง

9. การเปิดท่าอากาศยานดอนเมืองสำหรับให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers : LCCs) และ/หรือ เส้นทางการบินในประเทศและระหว่างประเทศแบบ จุดต่อจุด (Point to Point)

10. โครงการทำแนวป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพฯ และพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

11. โครงการศูนย์ความปลอดภัยขนส่งสำหรับรถโดยสารสาธารณะ


ผลงานที่ทำในช่วงที่เป็น CEO บริษัท Quality Houses จำกัดมหาชน

1. เพิ่มกำไรสุทธิของบริษัทจาก 3,106 ล้านบาทในปี 2558 มาเป็น 3,800 ล้านบาท ในปี 2562

2. เพิ่ม Net Profit Margin ของบริษัทจาก 14.26% ในปี 2558 มาเป็น 20.98% ในปี 2562

3. ลด D/E Ratio ของบริษัท จาก 1.46 ในปี 2558 มาเป็น 1.06 ในปี 2562

4. นำระบบ ISO 9001 เข้ามาใช้กับระบบโรงงาน Precast และ ระบบบริการหลังการ ขาย ทำให้เพิ่มคุณภาพในการให้บริการ


ผลงานที่ทำเกี่ยวกับชุมชน

1. ร่วมกัน จัดตั้งกลุ่ม Better Bangkok เพื่อช่วยกันคิดโครงการเพื่อทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นกว่าเดิม

2. ในช่วงโควิด 19 ร่วมกับทีมงานจัดทำโครงการ “บ้านใกล้เรือนเคียง” เพื่อให้ข้อมูลชุมชนต่าง ๆ ใน กทม.เพื่อให้ทราบความต้องการของแต่ละชุมชน และ สามารถส่งความช่วยเหลือโดยตรงให้กับชุมชนใกล้เคียงได้

 

 

ประวัติการศึกษาของชัชชาติ

  • ปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
  •  ปริญญาโท วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ปริญญาโท บริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปริญญาตรี วิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ชัชชาติทำงานอะไรมาบ้าง (Career)

  • 2536 - 2537 วิศวกรโครงสร้าง บริษัท สคิดมอร์ โอวิ่ง แอนด์ เมอร์ริลล์ สหรัฐอเมริกา
  • 2546 - 2555 อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และอดีตผู้ช่วยอธิการบดี)
  • 2555 - 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม. การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต โครงการทำแนวป้องกันน้ำท่วม กทม.
  • 2558 - 2561 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บมจ.ควอลิตี๊เฮาส์ (Q House)
  • 2562 - ปัจจุบัน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Better Bangkok รวมพลังสร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม ในช่วงโควิด-19 ร่วมทำโครงการ “บ้านใกล้เรือนเคียง” ฐานข้อมูลสำหรับส่งต่อความช่วยเหลือให้กับชุมชนใน กทม.

ชัชชาติอยากบอกอะไรกับคนกรุงเทพฯ

  • กรุงเทพมหานครจะดีขึ้นกว่าเดิมได้ เมื่อเราช่วยกัน ร่วมมือทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับเราทุกคนครับ

 

วิสัยทัศน์ (Vision) ของชัชชาติ สำหรับ กรุงเทพฯ คืออะไร

  • กรุงเทพฯ ถูกจัดอันดับให้เป็น “เมืองน่าเที่ยว” ต่อเนื่องมาหลายปี เราเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวแวะมาเยือนสูงสุดเป็นลำดับต้น ๆ ของเมืองทั่วโลก เป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานมักจะเอามาอ้างอิงอย่างภาคภูมิใจอยู่เสมอ ๆ
  • แต่ทำไมกรุงเทพฯ ไม่เคยถูกจัดให้เป็น “เมืองน่าอยู่” ระดับต้น ๆ ของโลกเลย* หรือเป็นเพราะกรุงเทพฯ เหมาะกับมาเที่ยว ชั่วคราว สัก 5 วัน 10 วัน มาเจอความสนุกสนาน ตื่นเต้น น่าตื่นตาตื่นใจ แล้วก็กลับไป แต่อาจจะไม่เหมาะนัก สำหรับคนที่ต้องมาอยู่ในระยะยาว
  • สำหรับพวกเรา กรุงเทพฯ คือบ้าน คือที่ทำงาน คือที่ที่เราและครอบครัวต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต ผมเชื่อว่าเราอยากให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองน่าอยู่” มากกว่าที่จะเป็นแค่ “เมืองน่าเที่ยว” ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นในอนาคตคือ

 

“กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”
 

สิ่งที่อยากเห็นนี้มีส่วนสำคัญสองส่วนคือ

  • “เมืองน่าอยู่” หมายถึงการที่เราสามารถหาความสุขได้อย่างพอดีจากการอยู่ในเมืองนี้ มีที่อยู่อาศัยที่ดี น้ำไม่ท่วม ไม่เน่า ขยะได้รับการจัดการ มีพื้นที่สาธารณะที่พอเพียง มีพื้นที่สีเขียวให้เราออกไปใช้ชีวิตได้ มีอากาศบริสุทธิ์ที่เราหายใจได้เต็มปอด มีการเดินทางที่สะดวก มีการศึกษา การเรียนรู้ที่ดีให้กับทุก ๆ คน มีการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงง่าย สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานสำคัญที่เราควรจะได้รับจากเมือง
  • “สำหรับทุกคน” มันเป็นเรื่องง่ายที่เราจะทำกรุงเทพฯ ให้เป็น “เมืองน่าอยู่สำหรับบางคน” สำหรับพวกเราที่สามารถมีที่อยู่อาศัยติดรถไฟฟ้า ส่งลูกไปโรงเรียนดี ๆ กลางเมือง เจ็บป่วยไปโรงพยาบาลเอกชนได้ตลอดเวลา มันไม่ยากเลยที่กรุงเทพฯ จะเป็น “เมืองน่าอยู่” แต่สำหรับพวกเราอีกจำนวนมาก ที่ต้องเดินทางเป็นชั่วโมงเพื่อไปทำงานในแต่ละวัน วิ่งหาโรงเรียนดี ๆ ให้ลูก เวลาเจ็บป่วยต้องไปรอหมอครึ่งค่อนวัน หรือ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่เดินทางลำบาก ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ อย่าว่าแต่คำว่า “น่าอยู่”เลย แค่การใช้ชีวิตให้ผ่านไปในแต่ละวันในกรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องท้าทายแล้ว
  • การทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน จึงเป็นความตั้งใจ ความท้าทาย เป้าหมาย ที่เราจะต้องมุ่งมั่น ร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้สำเร็จให้ได้

 *จากการสำรวจ “Global Liveability Index” by the Economist Intelligence Unit (EIU) ในปี 2018 กรุงเทพฯ ได้คะแนน 66 จาก 100 เป็นอันดับที่ 98 จาก 140 เมืองในรายงาน

 

หลักของการทำงานคืออะไร

“รับใช้ เข้าใจ ทันสมัย โปร่งใส ฉับไว”

1. รับใช้
หน้าที่ของ กทม.คือการรับใช้ ให้บริการประชาชน ไม่ใช่เป็นเจ้านายประชาชน ดังนั้น หลักการทำงานคือต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ฟังความเห็นประชาชน มีระบบ feedback กระจายอำนาจให้กับประชน ทำชุมชนให้เข้มแข็ง และ มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา กำหนดนโยบาย

2. เข้าใจ
ลงพื้นที่ ไม่อยู่แต่ในห้องแอร์ เข้าใจปัญหา และ ทางแก้ต่าง ๆ อย่างละเอียด ถี่ถ้วน จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและหาทางแก้ได้อย่างถูกต้อง

3. ทันสมัย
ใช้เทคโนโลยีที่และองค์ความรู้ที่ทันสมัย เหมาะสม ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดภาระที่ไม่จำเป็นของเจ้าหน้าที่เพื่อทำให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างเต็มที่

4. โปร่งใส
ดำเนินการต่าง ๆ อย่างสุจริต โปร่งใส ไม่มีใต้โต๊ะ เงินทอน ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ เอาประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้ง

5. ฉับไว
แก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างฉับไว ลดความเยิ่นเย้อ ปรับแก้กฎระเบียบ ข้อบัญญัติที่ไม่จำเป็น กำหนดตัวชี้วัดใน การให้บริการประชาชนให้ชัดเจน ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ

 

Core Values ของทีมเพื่อนชัชชาติคืออะไร

หลักการสำคัญที่เราใช้เป็นพื้นฐานในการทำงานร่วมกันคือ

1. สนุก คิดบวก
เราเชื่อว่าถ้าเราสนุกกับการทำงาน คิดบวก ไม่ทะเลาะกับใคร เราจะสร้างงานดี ๆ ได้เราจะไม่เสียเวลาในการคิดลบ จับผิด เราจะใช้เวลาในการร่วมกันสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับกรุงเทพฯ

2. ทำงานเป็นทีม
ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่หลากหลายจะทำให้เราสามารถหาคำตอบดี ๆ ให้กับกรุงเทพฯ ได้ เราเชื่อว่าทุกคนสามารถแบ่งปันสิ่งที่มีให้กับทีมงานได้

3. ทำเพื่อส่วนรวม
เป้าหมายของการมาร่วมกันทำงานในทีมเพื่อนชัชชาติ คือ การช่วยกันทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งสุดท้ายแล้วหมายถึงชีวิตของเราและครอบครัวที่จะดีขึ้นได้ การทำงานเป็นการทำเพื่อส่วนร่วม ไม่ได้คาดหวังถึงตำแหน่ง หรือ ผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ

4. รับฟังความเห็นที่แตกต่าง
การรับฟังความเห็นของคนอื่นในทีม การขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ การกล้าพูด กล้าแสดงความเห็นต่าง เป็นสิ่งสำคัญ เป็นหัวใจในการสร้างคำตอบดี ๆ ให้กรุงเทพฯ

5. ทำงาน ทำงาน ทำงาน
เน้นการทำงาน มุ่งมั่นกับการทำ “งานเมือง” ไม่เสียเวลากับ “การเมือง”

 

หากชัชชาติได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติจะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้อย่างไร

การที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้นั้น จะใช้แนวคิด Design Thinking ในการหาทางแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

1. เข้าใจและเข้าถึงการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ (Empathize)
ลงพื้นที่ รวบรวม รับฟัง เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงปัญหาของคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง ไม่ใช่นั่งแต่อยู่ในห้องแอร์รอรับฟังรายงาน

2. กำหนดปัญหาในแต่ละเรื่อง (Define)
ถ้ากำหนดปัญหาผิด ก็ไม่มีทางที่จะมีทางออกที่ถูกได้ ดังนั้นจึงใช้ทีมงานในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ทั้งในส่วนของพื้นที่ (ระดับเขต) และ ในส่วนของหน้าที่งาน (ระดับสำนัก) และ กำหนดปัญหาที่แท้จริงของแต่ละเรื่องรวมทั้งกำหนดความเร่งด่วนของแต่ละปัญหา

3. ระดมความคิด หาแนวทางแก้ไข (Ideate)
การแก้ไขปัญหาใน กรุงเทพฯ หลาย ๆ เรื่องต้องใช้การคิดใหม่ ถ้าใช้คนเดิมคิด วิธีการเดิมคิด ก็จะได้คำตอบเดิม ๆ ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาที่มีอยู่ ดังนั้นต้องมีการระดมผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาร่วมกันคิด เพื่อหาทางออกของปัญหาที่มีอยู่ เรามีคนเก่งเยอะ ต้องให้โอกาสคนเก่ง ๆ เหล่านี้มารวมกันเพื่อช่วยกันหาคำตอบให้กรุงเทพฯ

4. ลงมือทำแบบจำลอง (Prototype) และ ทำการทดสอบ (Test)
ปัญหาในกรุงเทพฯ มีจำนวนมาก แต่หลาย ๆ เรื่องเป็นปัญหาที่ซ้ำ ๆ กัน คล้าย ๆ กันในทุกเขต เช่น ปัญหาทางเท้า ปัญหาการระบายน้ำ ปัญหาขยะ เราสามารถทดลองการปัญหาด้วยการลงมือและทดสอบในบางจุดก่อน ถ้าสำเร็จก็จะขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งทางทีมงานของเราได้ลงมือทำเรื่องเหล่านี้มาเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้ว มีการกำหนดปัญหา ทางแก้ เริ่มทำและทดสอบแบบจำลองในหลายโครงการแล้ว ซึ่งเมื่อถึงเวลา เราสามารถนำสิ่งที่ได้เตรียมไว้มาลงมือทำได้อย่างทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมตัวอีก

ความสำเร็จที่สำคัญของการดำเนินการตามแนวทางนี้คือการมีทีมงานที่ความหลากหลาย มีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน และ มีความรู้จักพื้นที่ ดังนั้นเราจึงขอรับอาสาสมัครเพื่อจะมาร่วมกันเป็นทีมงานในการร่วมกันทำกรุงเทพฯ ของเราให้ดีขึ้น

 

นโยบายเส้นเลือดฝอยคืออะไร

  • ระบบต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ คล้าย ๆ กับร่างกายคน มีระบบเส้นเลือดใหญ่ที่เป็นหลัก อยู่ส่วนกลาง และมีเส้นเลือดฝอยที่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • เราอาจจะมีสวนสาธารณะหลักขนาดใหญ่แบบสวนลุม ที่มีสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่อุปกรณ์ครบครัน ในขณะที่ลานกีฬาและสนามเด็กเล่นเล็ก ๆ ใต้สะพานของชุมชน ที่เด็กเล่นทุกวันอยู่ในสภาพทรุดโทรม ไม่ได้รับการดูแล
  • เรามีเส้นเลือดใหญ่ในการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ยักษ์ขนาดใหญ่มูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท ในขณะที่เส้นเลือดฝอยที่เป็นท่อระบายน้ำตามชุมชนต่าง ๆ หลายที่อุดตัน ระบายไม่ได้
  • เรามีโรงพยาบาลขนาดใหญ่กระจุกตัวในเขตเมืองชั้นใน ในขณะที่ศูนย์สาธารณสุขและศูนย์สุขภาพชุมชนยังมีไม่เพียงพอและขาดแคลนอัตราบุคลากร
  • เรามีรถไฟฟ้าหลากหลายสี แต่คนส่วนใหญ่ถูกผลักออกจากแนวรถไฟฟ้าเพราะซื้อไม่ไหวและเรายังต้องเข้าคิวรอรถตู้ มอเตอร์ไซค์รับจ้างอีกนานเพื่อพาเรากลับถึงบ้าน
  • เรามีโรงเรียนที่มีคุณภาพระดับโลกหลายแห่ง ในขณะที่โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์เด็กอ่อน ในชุมชนต่าง ๆ ขาดแคลนทั้งงบประมาณและบุคคลากร
  • ระบบเส้นเลือดฝอยที่มีปัญหา สุดท้ายแล้วจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและประสิทธิภาพของเส้นเลือดใหญ่ เด็กนักเรียนแข่งกันเข้าโรงเรียนดัง ๆ แทนที่จะเรียนโรงเรียนดีใกล้บ้าน คนไข้แออัดที่โรงพยาบาลศูนย์แทนที่จะคัดกรองก่อนที่ศูนย์สาธารณสุข น้ำรอการระบายที่ไปไม่ถึงอุโมงค์
  • การแก้ไขปัญหา “เส้นเลือดฝอย” อาจจะไม่น่าตื่นเต้น เร้าใจเหมือนกับการก่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ อย่างอุโมงค์ยักษ์ แต่คือเรื่องสำคัญที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเราดีขึ้น
  • สิ่งที่สำคัญที่สุดของการแก้ปัญหา “เส้นเลือดฝอย” คือ ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และ ความตั้งใจจริงครับ.

 

ที่มา: www.chadchart.com