วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ชั้น 1 อาคาร วช. 8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) แถลง“ผลสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ของประเทศไทย ปี 2563 (รอบสำรวจปี 2564)” เพื่อสะท้อนสถานภาพการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลสำรวจดังกล่าว ถือเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และเป็นข้อมูลที่จะประกอบการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม การติดตามประเมินผล ตลอดจนใช้วัดศักยภาพการพัฒนาและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
ทั้งนี้ ผลการสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2563 (รอบสำรวจปี 2564) พบว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งสิ้น 208,010 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.33 % ของ GDP ของประเทศ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 7.74% จากปี 2562 คิดเป็น โดยสัดส่วนการค่าใช้จ่ายและลงทุนเป็นภาคเอกชน 68% หรือ 141,706 ล้านบาท ส่วนภาครัฐรวมถึงภาคอุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานไม่คิดกำไร คิดเป็น 32 % หรือ 66,304 ล้านบาท
แม้ภาพรวมค่าใช้จ่ายฯ ด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น จากภาครัฐที่ใส่เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชน ได้ลดลงจาก 77 % ในปี 2562 เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
โดย 3 อุตสาหกรรมที่ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2563 คือ อุตสาหกรรมอาหาร 32,545 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการยังลงทุนในการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง 11,862 ล้านบาท ซึ่งมีการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมการป้องกันภัย การตรวจสอบ และการระงับอัคคีภัย ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนได้ และมีการวิจัยเพื่อพัฒนาวัสดุก่อสร้างแบบประหยัดพลังงานเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
อันดับสาม คือ อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า 11,675 ล้านบาท ที่มีค่าใช้จ่ายทางด้านวิจัยและพัฒนาสูงขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมากยิ่งขึ้น จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการทำงานที่บ้านมากยิ่งขึ้น
สำหรับจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ในปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา (Full-time equivalent: FTE) รวมทั้งสิ้น 168,419 คน/ปี (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 1) โดยคิดเป็นสัดส่วน 25 คน/ปี ต่อประชากร 10,000 คน
ซึ่งแบ่งเป็นบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) ภาคเอกชน จำนวน 119,264 คน/ปี และภาคอื่น ๆ (รัฐบาล, อุดมศึกษา, รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) จำนวน 49,155 คน/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) ของภาคเอกชนต่อภาคอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 71:29 โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2570 จะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) ให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 40 คน/ปี ต่อประชากร 10,000 คน
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ตัวเลขสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ปี 2563 เพิ่มขึ้น แม้จะเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นเพราะภาครัฐเห็นความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาจึงใส่เม็ดเงินในด้านนี้เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้หากดูแนวโน้มการพัฒนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากงบลงทุน ฯ ประมาณร้อยละ 0.2 ของจีดีพี ขึ้นมาถึงร้อยละ 1.33 ของจีดีพีในปี 2563 ถือว่าประเทศไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
“ ปัจจุบันในภูมิภาคอาเซียน เลขค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของไทย ยังเป็นรองแค่ประเทศสิงคโปร์ และในปี 2570 หรือ 5 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยได้ตั้งเป้าค่าใช้จ่าย หรืองบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา อยู่ที่ 2 % ซึ่งหากประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนได้”
อย่างไรก็ดีในส่วนของ สอวช. ได้มีการตั้งเป้าหมายใหญ่ของประเทศ ที่จะขับเคลื่อนด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้สำเร็จภายในปี 2570 ด้วยการขับเคลื่อนประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มีกลไกหรือแพลตฟอร์มในการยกระดับฐานะทางสังคมของประชาชน
มีการส่งเสริมให้เกิดบริษัทที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐานในการทำธุรกิจมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงรองรับภาคอุตสาหกรรม และผลักดันให้ 50% ของบริษัทส่งออก บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารจัดการ ด้านโครงสร้างระบบหน่วยงาน และด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม