นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 “The Hybrid Edition” ที่อาคาร Challenger Hall 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากการที่ประเทศไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับ 13 ของโลก มีสัดส่วนกว่า 2.3% และส่งออกมากเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย
แม้ว่าการค้าระหว่างประเทศจะมีข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากโรคระบาด แต่ในไตรมาสแรกของปี 2565 ไทยสามารถส่งออกสินค้าอาหารได้กว่า 2.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.8% เปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2564 ตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นได้นั้น ไม่ใช่เพราะความโชคดี แต่เป็นผลจากการทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางการค้า โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ อีกหนึ่งผลลัพธ์ที่ได้มาจากกลไก กรอ.พาณิชย์ คือ การสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารและผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศไทยว่ามีความปลอดภัยและปราศจากเชื้อโควิด-19 โดยได้ริเริ่มการทำงานร่วมกันระหว่าง 4 กระทรวง ในการออกหนังสือรับรอง COVID-19 Prevention Best Practice ให้กับ 262 โรงงาน เพื่อสร้างมาตรฐานทางความปลอดภัย และผู้ซื้อสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจและยกระดับประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลก
ขณะเดียวกัน มีอีกนโยบายที่สำคัญ คือ การทำให้อาหารไทยกลายเป็นอาหารโลก โดยคำนึงถึงการตอบสนองเทรนด์แห่งอนาคตด้วย BCG Model โดยในเรื่องนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดทำแผนกลยุทธ์ Soft Power ขึ้น
ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้คนได้รู้จักอาหารไทยแล้ว จะนำไปสู่การสร้างความชื่นชอบในความเป็นไทยที่มีเสน่ห์และความเฉพาะตัวไปอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนทั่วโลก ซึ่งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากแผน Soft Power จะนำไปสู่ความต้องการของสินค้าและบริการของไทยมากยิ่งขึ้น สร้างการส่งออกจากประเทศไทยไปทั่วโลกให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนากิจกรรมเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้ซื้อจากทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน หลายประเทศได้เริ่มเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยประเทศไทยได้ดำเนินการกิจกรรมเพื่อสร้างให้ “อาหารไทยเป็นอาหารโลก” ได้
สำหรับการจัดงาน THAIFEX–ANUGA ASIA 2022 “The Hybrid Edition” ด้วยแนวคิด “Re-imagine the Future of Food and Beverage Industry” จัดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อจำนวนมาก ที่ต้องการเข้ามาซื้อสินค้าจากผู้ขายในประเทศ โดยงานแสดงสินค้าแบบ On-Site จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24-28 พ.ค.2565 และสำหรับผู้ซื้อที่ยังไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ก็สามารถชมบูธภายในงานได้ ผ่านช่องทางออนไลน์ THAIFEX Virtual Trade Show
โดยจะจัดงานออนไลน์คู่ขนานไปกับงาน On-site แต่เพิ่มความพิเศษ คือ ผู้ซื้อสามารถใช้ช่องทางนี้ในการค้นหาและพูดคุยกับผู้ขายได้ต่อเนื่องไปอีก 1 ปี เพื่อสร้างโอกาสทางการค้ามากยิ่งขึ้น โดยการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบ hybrid นี้ จะสามารถสร้างมูลค่าทางการค้ากว่า 10,000 ล้านบาทให้กับเศรษฐกิจไทยได้
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า งานแสดงสินค้าอาหารในปี 2565 THAIFEX–ANUGA ASIA 2022 “The Hybrid Edition” เป็นงานผสมผสานระหว่างการจัดงานในศูนย์แสดงสินค้า (Offline) และงานแสดงสินค้าอาหารเสมือนจริง (Online) ซึ่งในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมงานออฟไลน์ทั้งสิ้น 1,603 บริษัท ประกอบด้วย ผู้ประกอบการไทย 722 บริษัท และผู้ประกอบการต่างชาติ 881 บริษัท จาก 36 ประเทศ เช่น เอเชียตะวันออก อาเซียน ยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และอื่น ๆ คาดว่าจะสร้างมูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท จากงานออฟไลน์ 9,550 ล้านบาท และงานออฟไลน์ 450 ล้านบาท และประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 75,000 คน
โดยสินค้าที่นํามาจัดแสดงภายในงานแบ่งออกเป็น 11 โซน ประกอบด้วย สินค้าอาหารทุกประเภท อาหารทะเล อาหารแช่แข็ง ข้าว ผักและผลไม้ ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ชาและกาแฟ เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และยังมีโซนพิเศษสําหรับจัดแสดงสินค้าในกลุ่มฮาลาล ออร์แกนิก และอาหารแห่งอนาคต ขณะที่ในส่วนของการจัดงานออนไลน์ เป็นการจัดงานแสดงสินค้าอาหารเสมือนจริงที่เรียกว่า THAIFEX-Virtual Trade Show (THAIFEX-VTS)
ผ่านแพลตฟอร์ม www.thaifex-vts.com ผู้ใช้งานสามารถเข้าสู่งานเสมือนจริงได้ตลอด 24 ชั่วโมง นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการ เจรจาการค้าระหว่างผู้ส่งออกไทยและผู้ซื้อจากทั่วทุกมุมโลก
ส่วนประเด็นที่หลายประเทศมีการสำรองอาหาร ห้ามส่งออกสินค้าเกษตร อาหารและล่าสุดน้ำตาล โดยกระทรวงพาณิชย์จะดูเป็นรายตัวเพราะไทยทราบสต๊อกของเราดีอยู่แล้วว่าอาหารที่สำคัญจำเป็นสำหรับการบริโภคในประเทศแต่ละตัวนั้นจะต้องมีสต๊อกกี่เดือน จำนวนเท่าไหร่ อะไรที่เกินสต๊อกไทยจะก็ส่งออก อะไรที่จำเป็นต้องมีสต๊อก โดยก็จะดูเป็นพิเศษ เป็นหลักในการบริหารจัดการในเรื่องของสต๊อกอาหารสำหรับประเทศ ซึ่งยังไม่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้