รายงานข่าวจากองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Women (ยูเอ็นวีเม็น) เผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและ วิชาชีพสากล เปิดตัวรางวัล “UN Women 2022 Thailand WEPs Awards” งานประกาศรางวัลหนึ่งเดียวในไทยและเอเชียแปซิฟิก ที่เฟ้นหาธุรกิจต้นแบบที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการส่งเสริมศักยภาพสตรีใน 6 สาขารางวัล และรางวัลสำหรับ SMEs อีก 3 รางวัล ซึ่งเปิดรับสมัครแล้ววันนี้ถึง 15 กรกฎาคม 2565 โดยงานประกาศรางวัล จะจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565
โดย UN Women เปิดรับสมัครผู้นำองค์กรหรือองค์กรภาคธุรกิจเข้าร่วมชิงรางวัล WEPs Awards ประจำปี 2565 เป็นรางวัลที่เชิดชูแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมเสมอภาคทางเพศและศักยภาพสตรีในภาคธุรกิจภายใต้หลักการ Women's Empowerment Principles (WEPs) รางวัลนี้จัดขึ้นโดยโครงการ WeEmpowerAsia ของ UN Women ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลียประจำประเทศไทย (DFAT) เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในภาคธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเป็นผู้นำองค์กรมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมแก่คนทุกเพศในทุกภาคส่วน
ทั้งนี้การส่งเสริมการเสริมพลังและบทบาทสตรีทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งเสริมผลการดำเนินงานและความสามารถในการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมาย 2030 agenda ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs: The United Nations Sustainable Development goals)
จูเซปเป บูซินี่ (Mr.Giuseppa Busini) Deputy Head of Mission (DHoM) European Union Delegation to Thailand กล่าวเปิดงานว่า ปีที่แล้ว UN Women ประสบความสำเร็จในการจัดมอบรางวัล WEPs Awards มีบริษัททั่วทั้งภูมิภาคกว่า 700 บริษัทสมัครเข้าร่วมรับการคัดเลือก และมีบริษัทไทย 2 บริษัทได้รับรางวัลในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งได้ย้ำถึงความสำคัญของความเสมอภาคทางเพศในภาคธุรกิจ ซึ่งมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และได้กล่าวเชิญชวนองค์กรธุรกิจทั้งขนาดใหญ่เล็ก ไม่ว่าจะมีผู้นำเป็นเพศใดให้เข้าร่วมสมัคร เพื่อรับการคัดเลือกรับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งความร่วมมือนี้ต้องใช้ระยะเวลาและอาศัยความต่อเนื่อง จึงหวังว่าจะได้มีการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไปในอนาคต
เอมิลี่ ดาธ (Ms.Emily D’Ath) First Secretary (Development) Australian Embassy, Thailand ระบุว่าประเทศออสเตรเลียให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้มีพลัง ก็คือต้องทำในทุกระดับ ทั้งผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร พร้อมกับการสร้างความยั่งยืนในชุมชนด้วย โดยเฉพาะขณะนี้ทั่วโลกกำลังฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเข้ามาพิจารณาในภาคธุรกิจ
นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย หนึ่งในองค์กรพันธมิตรในการจัดงานในครั้งนี้ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา UNGC ได้ร่วมกับ UN Women เสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการทั่วโลกและเริ่มมีกิจกรรมในประเทศไทย ในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยจัดทำนโยบาย หรือระบบการทำงานที่คำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศผ่านห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) โดยได้จัดกิจกรรมอบรมและแลกเปลี่ยนในกลุ่มสมาชิกของ GCNT ที่เป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำมากกว่า 100 องค์กร ในการนำหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี หรือ Women's Empowerment Principles (WEPs) ไปใช้ในองค์กร ตลอดจนแบ่งปันวิสัยทัศน์ และแนวทางต่างๆ ในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมศักยภาพผู้หญิง เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจ
ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้กล่าวยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ให้เป็นหนึ่งในกลไกในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ สังคม และประเทศชาติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมในการพัฒนาสำหรับทุกเพศทุกวัย ทั้งในด้านการจ้างงาน การพัฒนาความรู้ และการให้โอกาสในองค์กร และขอแสดงความชื่นชม UN Women ที่ได้ริเริ่มการประกาศรางวัลนี้เพื่อยกย่องธุรกิจต้นแบบที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ขณะที่นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ประธานคณะกรรมการ กรุงเทพมหานคร ได้กล่าวขอบคุณ UN Women ที่เห็นบทบาทและความสำคัญของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยในการสร้างสรรค์จรรโลงความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ ของสุภาพสตรี ให้มีความทัดเทียม เคียงบ่าเคียงไหล่ กับบุรุษเพศในการใช้ชีวิต ประกอบอาชีพ ประกอบธุรกิจ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และสามารถที่จะมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยไปในอนาคตอย่างเท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับทางคุณจุฬารัตน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและเสริมสร้างศักยภาพความสตรีที่ประกอบอาชีพในด้านต่างๆ ทุกระดับผ่านการสนับสนุน การศึกษา การให้คำปรึกษา เครือข่ายการสร้างทักษะ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสตรี