นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี ว่า การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานฯ ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2569 - 14 มี.ค.2570 ณ พื้นที่สาธารณประโยชน์หนองแด อำเภอเมืองอุดรธานี ในพื้นที่ 1 พันไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรร่วมกับจังหวัดอุดรธานีดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม บริเวณจัดงานจะมีพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นจะนำความหลากหลายเหล่านี้มาเป็นหัวข้อหลักในการจัดงาน คาดว่าตลอด 134 วันนั้น จะสร้างรายได้ให้กับจังหวัดกว่า 32,000 ล้านบาท และหนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท จ้างแรงงานกว่า 81,000 อัตรา รายได้จากภาษี 7,700 ล้านบาท
“หัวใจสำคัญของหัวข้อการจัด คือ ให้ชูความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุมน้ำหนองแดออกมาให้มากที่สุด ซึ่งได้ย้ำกับทางจังหวัดว่าต้องระวังในขั้นตอนปรับภูมิทัศน์ไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ และในการส่งน้ำจากเขื่อนห้วยหลวงเพื่อรักษาระดับน้ำเสริมภูมิทัศน์ต้องไม่กระทบต่อผู้ใช้น้ำ ทั้งนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมชลประทานชี้แจงว่าจะไม่กระทบและได้ทำประชาพิจารณ์กับประชาชนแล้ว และหลังงานจะเกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในจังหวัดสร้างรายได้ให้จังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง” นางสาวมนัญญา กล่าว
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้เตรียมเสนอกระทรวงมหาดไทยอนุมัติปรับจากที่ดินสาธารณะประโยชน์ เป็นที่ราชพัสดุ เพื่อการส่งมอบพื้นที่ให้ท้องถิ่นดูแลภายหลังจบงาน อีกทั้งจังหวัดอุดรธานีได้มีการประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2565 ดังนี้ 1. คำสั่งตั้งคณะกรรมการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ เสนอนายกรัฐมนตรีลงนามตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการอำนวยการการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 และคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างที่นำเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2. สถาบันวิจัยพืชสวนทำหนังสือเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในกรณีการใช้พื้นที่จัดงานที่ทุ่งหนองแด ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เรื่องมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ และ 3. การจัดทำร่าง TOR Master Plan โดยจังหวัดเชิญกรมวิชาการเกษตร กรมโยธาธิการและผังเมือง หอการค้าจังหวัด นายกสมาคมสถาปนิก นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และกลุ่มนักออกแบบจังหวัดอุดรฯ ร่วมประชุม 2 ครั้งเมื่อกลางเดือน พ.ค. และขอให้กรมวิชาการเกษตรส่งตัวแทนเป็นคณะจัดทำ TOR Master Plan
ด้าน นายระพีภัทร จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรพร้อมสนับสนุนการดำเนินการจัดงานอย่างเต็มที่ ทั้งงานด้านวิชาการ งานพืชสวน พืชไร่ ซึ่งในงานจะมีการจัดสวนนานาชาติกว่า 20 ประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยจะเชิญเข้าร่วม นอกจากนั้นกรมฯ จะนำผลศึกษาคาร์บอนเครดิตในการกักเก็บคาร์บอน ในไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ไม้ผล และพืชไร่ เสนอต่อที่ประชุมด้วย