รฟท.กางแผนศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าอุดรธานี-หนองคาย รับขนส่งไทย-ลาว

30 พ.ค. 2565 | 03:51 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2565 | 11:00 น.

รฟท. ลงพื้นที่สถานีย่านสถานีอุดรธานี – นาทา – หนองคาย เปิดแผนศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่ง เตรียมความพร้อมเสริมศักยภาพ หนุนขนส่งสินค้าผ่านแดนไทย – สปป.ลาว

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมขนส่งทางบก ในฐานะประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีอุดรธานี สถานีหนองตะไก้ สถานีนาทา และสถานีหนองคาย เพื่อติดตามความก้าวหน้าแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างเชื่อมทางรถไฟ จากสถานีหนองตะไก้ ถึงพื้นที่ ICD นิคมอุสาหกรรมอุดรธานี และแผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย รวมทั้งแผนพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) สถานีนาทานั้น ได้มีการรับฟังการบรรยายโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยวและพัฒนาพื้นที่ จากสถานีรถไฟหนองตะไก้ ไปยังพื้นที่โครงการนิคมอุสาหกรรมอุดรธานี ระยะทาง 3.702 กิโลเมตร โดยมีพื้นที่อยู่ติดกับเส้นทางรถไฟ ซึ่งทางโครงการได้เสนอให้สร้างทางรถไฟจากสถานีหนองตะไก้ไปจนถึงเขตพื้นที่ของโครงการ ระยะทางประมาณ 2.802 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือโครงการจะเป็นผู้รับดำเนินการลงทุนสร้างทางรถไฟ รองรับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป

 

 

ขณะเดียวกันได้เดินทางต่อไปยังสถานีนาทา และสถานีหนองคาย รับฟังการบรรยายการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศ ไทย–สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าหลากหลายชนิด อาทิ ข้าวมอลต์ ยางมะตอย เม็ดพลาสติก สินค้าอุปโภค และผลไม้ รวมทั้งยังได้ติดตามความก้าวหน้าแผนพัฒนาการขนส่งสินค้าทางราง ซึ่งการรถไฟฯ ได้มีการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีหนองคาย และ CY สถานีนาทา รวมถึงการเพิ่มขบวนรถสินค้า ทั้งรถจักร และรถพ่วง

 

 

  ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ ในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย-สปป.ลาว ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน

 

รฟท.กางแผนศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าอุดรธานี-หนองคาย รับขนส่งไทย-ลาว

สำหรับการพัฒนาย่านสถานีหนองคาย ปัจจุบันกรมศุลกากรได้ออกประกาศเป็นพื้นที่ตรวจปล่อยแล้วจำนวน 46,800 ตารางเมตร โดยการรถไฟฯ อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งพื้นที่คงเหลือจากการใช้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยเป็น 6 แปลง แปลงละ 16,640 ตารางเมตร เพื่อออกประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน 4 แปลง และกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง 2 แปลง พร้อมกับกำหนดราคาค่าเช่าให้เป็นไปตามระเบียบการรถไฟฯ ส่วนแผนพัฒนา CY ย่านนาทา พื้นที่ 268 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศูนย์ซ่อมบำรุงเบาที่สถานีนาทา และสามารถเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ด้วยถนนตัดใหม่ของกรมทางหลวงชนบท รวมถึงเชื่อมต่อกับศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกทางด้านเหนือของพื้นที่

นายจิรุฒม์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้กำหนดแผนใช้พื้นที่ของศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ดังนี้ โซน A พื้นที่สำหรับกองเก็บตู้สินค้าประเภทต่างๆ (CONTAINER YARD) 120 ไร่

 

 โซน B พื้นที่ลานขนส่งสินค้า (TRANSSHIPMENT YARD) ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ ราง ถนน และลานนกองเก็บโดยรอบ 75 ไร่ เพื่อให้สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีนและ สปป.ลาว รวมถึงส่งออกไปยังสปป.ลาวและจีน พร้อมกับมีการติดตั้งเครนสำหรับยกตู้และวางตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนลงมาวางชั่วคราว

 

 

โซน C พื้นที่อาคารสำนักงาน โรงพักสินค้า และที่จอดรถ 73 ไร่ จะประกอบไปด้วย ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่สำนักงานศุลกากร และคลังสินค้าศุลกากร ส่วนที่ 2 เป็นศูนย์ปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ อาทิ ลานและอาคารตรวจสอบสินค้า อาคารเอ็กซเรย์รถบรรทุก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการแบบ One -Stop Service

รฟท.กางแผนศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าอุดรธานี-หนองคาย รับขนส่งไทย-ลาว

 

นอกจากนี้การพัฒนา CY นาทา การรถไฟฯ ได้คำนึงถึงความต่อเนื่องในการใช้งานภายในพื้นที่ และสามารถต่อเชื่อมกับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถบรรทุกของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสถานะปัจจุบันฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ ออกแบบรายละเอียดงานโยธาแล้ว รวมถึงฝ่ายบริการสินค้าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจ้างบริษัทปรึกษาเพื่อดำเนินการโครงการลงทุนแบบร่วมทุน (พีพีพี)

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า นอกจากแผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย และการพัฒนา CY สถานีนาทาแล้ว การรถไฟฯ ยังได้ดำเนินปรับเพิ่มขบวนรถสินค้าสำหรับให้บริการ เพื่อรองรับการเติบโตทางการค้าผ่านแดนในอนาคตอีกด้วย โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ แผนระยะสั้น ปี 2564–2565 ได้เปิดให้บริการ 5 ขบวนไป-กลับ พ่วง 25 แคร่วิ่งทุกวัน มีรถจักรให้บริการ 10 คัน และรถพ่วง 350 แคร่ รองรับการขนส่งสินค้าได้ 73,000 TEU

 

 

 แผนระยะสั้น ระยะกลาง ปี 2566 – 2568 มีการเพิ่มขบวนรถให้บริการเป็น 8 ขบวนไป-กลับ พ่วง 25 แคร่วิ่งทุกวัน มีรถจักรให้บริการเพิ่มเป็น 16 คัน และรถพ่วง 530 แคร่ รองรับการขนส่งได้ 116,800 TEU

 

รฟท.กางแผนศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าอุดรธานี-หนองคาย รับขนส่งไทย-ลาว

 แผนระยะยาว ปี 2569 เป็นต้นไป มีการเพิ่มขบวนรถให้บริการเป็น 12 ขบวนไป-กลับ พ่วง 25 แคร่วิ่งทุกวัน มีรถจักรให้บริการเพิ่มเป็น 24 คัน และรถพ่วง 794 แคร่ รองรับการขนส่งได้ 175,200 TEU โดย

 

 

  อย่างไรก็ตามการรถไฟฯ คาดหวังว่า การพัฒนาย่านสถานีหนองคาย และ CY นาทา นอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางราง รองรับการเติบโตทางการค้าผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น อีกทั้งยังสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตามนโยบายรัฐบาลได้ในอนาคตอีกด้วย