ทั้งนี้เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคทั่วโลก ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
โดยซีพีเอฟ ได้ดำเนินธุรกิจเชิงรุกมุ่งสู่เป้าหมายเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยได้กำหนดแนวปฏิบัติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับกระบวนการผลิต ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ สร้างโรงงานและฟาร์มแห่งอนาคต
อีกด้านที่ซีพีเอฟ ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่ Net Zero คือ การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Removal) โดยได้สนับสนุนการยุติการตัดไม้ทำลายป่า การฟื้นฟูป่า และปลูกต้นไม้ นอกจากนี้ยังสำรวจโอกาสด้านเทคโนโลยีใหม่ เช่น การใช้พลังงานจากกังหันลม การสรรหาแหล่งพลังงานทางเลือก เป็นต้น
เส้นทางสู่ Net Zero ของซีพีเอฟ ที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนที่ 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด แบ่งเป็นพลังงานชีวมวล (Biomass) 65% พลังงานจากก๊าซชีวภาพ (Biogas) 33% และพลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 48 ล้านต้น (ประมาณ 2.4 แสนไร่)
บริษัทฯ มีแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง และในปี 2565 นี้ มีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินสำหรับกิจการในประเทศ ไทย และหันมาใช้พลังงานชีวมวลแทน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีก 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ปัจจุบัน โรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟ 37 แห่งใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ มีกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 13,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนฟาร์มสุกรและคอมเพล็กซ์ไก่ไข่มากกว่า 100 แห่ง ใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพแทนไฟฟ้าจากสายส่งได้ 69 ล้านหน่วย ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 492,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ในส่วนของธุรกิจสัตว์น้ำ ได้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบตลอดห่วงโซ่การผลิตกุ้ง ตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ ฟาร์มกุ้ง โรงงานผลิตอาหารแปรรูป โดยนำพลังงานชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในกระบวนการผลิต ปัจจุบันได้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในฟาร์มกุ้งในไทย 5 แห่ง ได้แก่ ฟาร์มกุ้งร้อยเพชร จ.ตราด ฟาร์มบางสระเก้า จ.จันทบุรี ฟาร์มกุ้งลักกี้ 1 จ.ระยอง ฟาร์มเพชรบุรี ฟาร์มเพาะฟักลูกกุ้งปะทิว จ.ชุมพร และปีนี้มีแผนติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มในโรงเพาะฟักลูกกุ้งอีก 8 แห่ง
ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ ยังสานต่อโมเดลธุรกิจสีเขียว พัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่สดซีพี ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูสดซีพี ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า 13 % เป็นต้น
ปัจจุบัน ซีพีเอฟมีผลิตภัณฑ์กว่า 790 รายการ ได้รับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และได้รับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และกว่า 30 รายการเป็นผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำที่ได้รับรองฉลากลดโลกร้อนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ทำให้ในปี 2564 ซีพีเอฟมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์สีเขียว (CPF Green Revenue) อยู่ที่ 33 % ของรายได้รวม และมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 40% ภายในปี 2573
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยมีเป้าหมาย 100% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือนำมาใช้ใหม่ หรือสามารถย่อยสลายได้ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UNSDGs)