เศร้า ปิดตำนาน “คลังพลาซ่า อัษฎางค์” ห้างเก่าแก่เมืองย่าโม

05 มิ.ย. 2565 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2565 | 12:50 น.

เซ่นพิษเศรษฐกิจ-โควิด “คลังพลาซ่า" ไปต่อไม่ไหว ประกาศปิดกิจการสาขาอัษฎางค์ จบตำนานห้างเก่าแก่ 36 ปี เมืองย่าโม

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2565 บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด เจ้าของห้างสรรพสินค้า “คลังพลาซ่า” จังหวัดนครราชสีมา ออกประกาศแจ้งปิดการให้บริการห้างสรรพสินค้า “คลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์” อย่างเป็นทางการ

 

โดยเนื้อหาระบุว่า  เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยมีการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจการค้าโลก ประกอบกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีความยากลำบากมากขึ้น จากสงครามและมาตรการคว่ำบาตรซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้  

คลังพลาซ่า

จากภาวะดังกล่าวส่งผลต่อธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้าเป็นอย่างมากบริษัท คลังพลาซ่า จำกัด ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะประคับประคองสถานการณ์ แต่จากระยะเวลาที่ยาวนาน บริษัทประสบภาวะขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสถานการณ์อยู่ในภาวะวิกฤต ขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจ

 

คณะผู้บริหารได้พิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องปิดการให้บริการห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่าและเลิกจ้างพนักงาน ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป และการจ่ายค่าจ้างและชดเชย หนักงานทุกท่าน บริษัทได้มอบหมายให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นตัวแทนดำเนินการดูแลและประสานงานต่อไป

 

ท้ายนี้ ผู้บริหารขอขอบคุณพนักงานทุกท่านที่ได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หากสถานการณ์ดีขึ้น บริษัทหวังว่าจะได้มีโอกาสร่วมงานกับท่านอีก

 

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 “คลังพลาซ่า” ได้ประกาศปิดให้บริการห้างสรรพสินค้า “คลังพลาซ่าสาขา จอมสุรางค์” จากสาเหตุการประสบมรสุมเศรษฐกิจซบเซาและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน

คลังพลาซ่า

ทั้งนี้บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด ภายใต้การบริหารของนายไพรัตน์ มานะศิลป์ รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า รวม  3 สาขา ประกอบด้วย คลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค, คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ และคลังวิลล่า สาขาสุรนารายณ์

คลังพลาซ่า

สำหรับ “คลังพลาซ่า” ถือเป็นตำนานห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น ก่อตั้งโดยนายไพศาล มานะศิลป์ ตั้งแต่ปี 2501 จากร้านขายอุปกรณ์การเรียนในชื่อ “คลังวิทยา” ข้างวัดพายัพ ก่อนขยายสาขาและย้ายมาอยู่ที่ ถนนอัษฏางค์ และเปลี่ยนชื่อเป็น “คลังวิทยา ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” ในปี 2519 ถือเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อนของภาคอีสาน

 

ต่อมาได้ขยายสาขาเพิ่มและย้ายมาอยู่บริเวณตรงข้ามโรงภาพยนตร์เฉลิมวัฒนารามา เยื้องลานย่าโม ริม ถนนจอมสุรางค์ยาตร เป็นห้างสรรพสินค้า ”คลังพลาซ่า สาขาอัษฏางค์” เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 ถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคอีสานในขณะนั้น ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวโคราชและคนอีสานเป็นอย่างดี

 

ปี 2553 ได้เพิ่มสาขา “คลังวิลล่า” เยื้องมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) นครราชสีมา แม้ผลกระทบจากการแข่งขันดุเดือดของทุนใหญ่จากส่วนกลาง ทั้ง “เดอะมอลล์” “เทอร์มินอล 21” “เซ็นทรัลพลาซ่า” คลังพลาซ่ายังคงยืนหยัดต่อสู้ได้อย่างแข็งแกร่ง

 

ปี 2557 ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท รีโนเวต หรือปรับปรุงทุกชั้นทุกแผนกครั้งใหญ่ของ “คลังพลาซ่า จอมสุรางค์” ด้วยสภาวะเศรษฐกิจซบเซาและวิกฤตโควิด 3 ระลอก “คลังพลาซ่าจอมสุรางค์” ต้องปิดตำนานห้างที่ดังที่สุดในยุค 30 ปี

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายไพรัตน์ ได้พลิกวิกฤตโดยเปลี่ยนรูปแบบกิจการ “คลังพลาซ่าจอมสุรางค์” เป็น “ARPAYA” หรือจากช้อปปิ้งมอลล์ สู่ มิกส์ยูส “อาภาญา” โครงการที่รวมอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ทั้งอาคารสำนักงานและศูนย์การค้า รวมทั้งแหล่งเรียนรู้การศึกษา โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งร้านกาแฟ ร้านอาหาร ฯลฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ภายในอาคารสูง 10 ชั้น ที่จอดรถยนต์ 500 คัน