หลังจากที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กนบ.) ได้มีมติปรับขึ้นราคาน้ำมัน ดีเซล ประจำสัปดาห์ลิตรละ 1 บาท เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาคเอกชนเองเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นและหามาตรการรองรับนอกจากจากรอมาตรการของภาครัฐ
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สิ่งที่เอกชนกังวลมากกว่าตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของแพง แต่เป็นเรื่องของขาดตลาดเพราะหากวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น ผู้ผลิตมีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าดังกล่าว สุดท้ายผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในกรณีวัตถุดิบขาดแคลนในการผลิต ส่งผลต่อซัพพลายสินค้าออกสู่ตลาดหรือประเทศคู่ลดน้อยลง ราคาก็อาจจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากยังมีความต้องการต่อเนื่องของประเทศปลายทาง
โดยปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน ไม่ว่าจะเป็น เซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น ที่หลายประเทศเริ่มออกมาตรการ Food protectionism หรือการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารกันมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตและบริโภคในประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
ถ้าดูเป็นรายสินค้า อย่างปุ๋ย อาหารสัตว์เลี้ยง แน่นอนว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะนำเข้าไม่ได้ และยูเครนผู้ส่งออกรายใหญ่ก็ส่งออกไม่ได้ กระทบแน่นอน ข้าวยังไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ก็ได้รับผลกระทบเรื่องปุ๋ยซึ่งอาจทำให้ผลผลิตลดลง
กลุ่มยานยนต์ ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์อย่างเซมิคอนดักเตอร์กระทบในเรื่องของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนต่อเนื่องทั้งปี
กลุ่มก่อสร้างขาดแคลนเหล็ก โลหะและมีราคาที่สูงขึ้นเป็นต้น ส่วนวัตถุดิบที่จะได้รับผลกระทบอีกในอนาคตเท่าที่ดูตอนนี้ยังไม่มี
ทั้งนี้มองว่าในระยะสั้นกำลังการผลิต และผลผลิตภาคการเกษตรอาจจะลดลงสะสมไปเรื่อย ๆ ภายใน 3 เดือนนี้ถามว่ากระทบกับภาคการผลิตหรือไม่ต้องบอกว่ามีผลกระทบมาก และเสี่ยงสูงแต่จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะไทยยังผลิตและหาสินค้าอื่นทดแทนได้
เช่น กรณีน้ำมัน หากรัสเซียไม่ส่งออกน้ำมันไปในหลายประเทศ เราก็ยังมีอิรักที่น่าจะมีผ่อนคลายความตรึงเครียดกับสหรัฐฯก็น่าจะสามารถทดแทนน้ำมันจากรัสเซียได้ หรือเวเนซุเอลาที่ยังสามารถส่งออกน้ำมัน และเชื่อว่าอุตสาหกรรมในไทยจะไม่หยุดชะงัก เพียงแต่จะลดกำลังการผลิตลง
แน่นอนว่าต้นทุนย่อมสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่จะสูงไปถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือไม่นั้น คิดว่าไม่น่าถึง ในไตรมาส 3 คาดว่าราคาน้ำมันน่าจะอยู่ระดับ 110-120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่โอกาสที่จะลงไปที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลไม่น่าจะเป็นไปได้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาคเอกชนทำได้หากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันจริง ๆ ในระยะสั้นอาจต้องปรับลดกำลังการผลิตลง เพื่อไม่กระทบสัดส่วนการใช้น้ำมันในการผลิต และอาจต้องมองพลังงานที่ไทยสามารถผลิตได้ทดแทน เช่น การผสมน้ำมันปาล์มที่ไทยสามารถผลิตได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ เอกชนอาจต้องพิจารณา ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ Green energy หรือพลังงานทางเลือก (Renewable energy) เช่น Solar, Wind, Water, Battery เป็นต้น
สิ่งสำคัญคือภาครัฐเองต้องมีมาตรการอุดหนุน เรื่องพลังงานสีเขียว พลังงานทดแทน ทั้งในเรื่องของงบประมาณสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกเครื่องการผลิต เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการลดใช้น้ำมันในอนาคต