การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดประมูล โครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี)วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทรอบที่สองอีกครั้งหลังยกเลิกการประมูลรอบแรกออกไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากปัญหาคดีฟ้องร้องในชั้นศาลปกครอง
ที่มีบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นโจทย์ยื่นฟ้องปมแก้เกณฑ์ทีโออาร์ โดยให้พิจารณาคะแนนเทคนิค 30 คะแนน และเกณฑ์ด้านผลตอบแทนการลงทุนหรือซองราคา 70 คะแนนในช่วงที่เปิดให้เอกชนซื้อเอกสารประกวดราคาไปเรียบร้อยแล้ว จากเดิมยึดซองราคาเป็นเกณฑ์ใครให้ผลตอบแทนรัฐดีที่สุด
ปรากฏการณ์ในครั้งนั้น หลายฝ่ายมองว่าเกณฑ์ทีโออาร์รถไฟฟ้าสายสีส้มรอบสอง เกิดความไม่ชอบมาพากล และอาจเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนรายใดรายหนึ่งเพราะก่อนหน้านี้หากจำกันได้ ได้ มีบริษัทรับเหมา รายใหญ่ รายหนึ่ง ทำหนังสือเรียกร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ควรกำหนดเกณฑ์ประมูลที่เข้มงวด คัดเลือกผู้ประมูลที่มีประสบการณ์ออกแบบก่อสร้างงานรถไฟฟ้าชั้นสูง
โดยเฉพาะการขุดเจาะอุโมงค์ เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตกส่วนใหญ่ต้องลอดใต้ชั้นดินผ่านจุดอ่อนไหวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และชุมชนขนาดใหญ่ จนเป็นชนวนการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม เมื่อมีการฟ้องร้องทำให้โครงการสายสีส้มดำเนินการล่าช้ากว่าแผน ไม่ต่ำกว่า 2 ปี
ปมร้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดจากเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการประมูลโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตกรูปแบบ PPP
หรือการจัดทำโครงการร่วมลงทุนภายใต้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ใครชนะประมูลจะได้สัมปทานเดินรถทั้งระบบ(สายสีส้มตะวันตกและตะวันออก) ทำให้การคัดกรองผู้รับเหมาเพื่อชิงชัยสายสีส้มต้องเข้มข้น ขณะผู้ที่เชี่ยวชาญการเดินรถไฟฟ้าในประเทศไทย มีเพียงสองราย
เกณฑ์ทีโออาร์ปิดทางบีทีเอส
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ นักวิชาการและในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการตรวจสอบรายละเอียด พบว่า การกำหนดเกณฑ์ฅทีโออาร์ค่อนข้างสูง จากการประมูลในรอบที่ผ่านมา โดยปรับคะแนนด้านเทคนิคทุกหัวข้อรวมที่ 90%
นอกจากนี้ รฟม. ยังกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา โดยมีสัญญาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด ประสบการณ์ด้านงานโยธา 3 ประเภท ได้แก่
1. งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท 2. งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน หรือสถานียกระดับของระบบขนส่งมวลชน มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และ 3.งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทาง มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
สะท้อนว่า การกำหนดให้มีผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภท พบว่าทั้งโลก มีเพียง บริษัทรับเหมารายใหญ่ เพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 รายนี้เป็นผู้รับเหมาไทย คือบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
ส่วน บีทีเอส อาจได้รับผลกระทบ เพราะเป็นผู้เชียวชาญระบบเดินรถ แต่ไม่มีประสบการณ์ด้านงานโยธา การขุดเจาะอุโมงค์ อีกทั้งไม่สามารถเชิญกลุ่ม ช.การช่าง หรืออิตาเลียนไทย มาร่วมยื่นข้อเสนอกับบีทีเอสได้
เพราะช.การช่างเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะคู่แข่งเดินระบบรถไฟฟ้าเช่นเดียวกับ อิตาเลียนไทย ที่ไม่ร่วมงาน กับบีทีเอสอย่างที่พอคาดเดาเพราะมักร่วมทางกับอีกฝั่ง
เสี่ยงฟ้องร้องฉุดสีส้มสะดุดซ้ำ
ขณะทางออกที่บีทีเอสจะหาพันธมิตรจากต่างชาติ ที่มีประสบการณ์ ด้านการขุดเจาะอุโมงค์แบบหัวเจาะฯลฯ ย่อมยากยิ่ง เพราะมีผลงานในประเทศไทยมานานแล้ว และไม่ทราบแน่ชัดว่า จะยังทำงานด้านนี้อีกหรือไม่ หากนำมาเชื่อว่าไม่ผ่านคะแนนด้านเทคนิค
อย่างไรก็ตาม นายสามารถอธิบายว่า แม้บีทีเอสจะผ่าน ด่านแรกแต่ยังมีด่านของการให้คะแนนเทคนิครออยู่ ซึ่งรฟม. ได้ปรับเพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิค โดยเพิ่มคะแนนจากการประมูลครั้งแรก ที่ถูกยกเลิกไป ได้แก่
1. คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 85% โดยได้ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งแรก ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 80% และ2. คะแนนด้านเทคนิครวมทุกหัวข้อจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 90% โดยได้ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งแรก ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 85%
ดังนั้น แม้ว่าบีทีเอส จะสามารถหาผู้รับเหมา 2-3 ราย มาร่วมงานเพื่อทำให้มีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภท แต่ก็คงไม่สามารถฝ่าด่านคะแนนด้านเทคนิคไปได้ เพราะคงได้คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อน้อยกว่า 85% และ/หรือได้คะแนนรวมทุกหัวข้อน้อยกว่า 90%
ทั้งนี้ นายสามารถประเมินว่าการกำหนดเกณฑ์ในลักษณะแบบนี้มองว่าเป็นเรื่องที่ดีอาจได้ผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญสูง แต่ในทางกลับกัน ทำให้การแข่งขันเสนอผลตอบแทนให้รัฐลดลง และเป็นสาเหตุให้รฟม.เสียโอกาสการได้รับผลตอบแทนสูงสุด
ที่สำคัญการกำหนดเกณฑ์ในลักษณะดังกล่าว อาจเสี่ยงต่อการฟ้องร้องและนำไปสู่การดำเนินโครงการสายสีส้มล่าช้ากระทบประชาชนจำนวนมากที่รอใช้บริการ
เช่นเดียวกับ แหล่งข่าววงการผู้รับเหมากล่าวว่า การออกเกณฑ์ทีโออาร์รอบใหม่มีความชัดเจนที่จะเอนเอียงในทางใดทางหนึ่ง มองว่าไม่เป็นธรรมและจ่อไปในทางกีดกันไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน
หมดสิทธิ์ดึงต่างชาติ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอสซี ระบุว่าการกำหนดเกณฑ์ทีโออาร์ครั้งนี้ค่อนข้างสูง และโอกาสดึงพันธมิตรต่างชาติที่มีประสบการณ์ ได้ถูกปิด ช่องทางทั้งหมด และตามข้อเท็จจริง ควรเปิดกว้างว่า ต้องมีประสบการณ์ด้านที่กำหนดที่ใดก็ได้ ขณะล่าสุดบริษัทได้ซื้อซองประกวดราคาแล้ว เมื่อวันที่27 พฤษภาคม 2565ที่ผ่านมา
“รฟม.ตั้งเกณฑ์การประมูลด้านเทคนิค 90 คะแนน หากคะแนนไม่ถึงจะไม่เปิดข้อเสนอด้านราคาและผลตอบแทนนั้น ยอมรับว่าเป็นเกณฑ์ที่สูงมาก เพราะโครงการอื่นๆไม่ได้ตั้งเกณฑ์การประมูลสูงขนาดนี้ ทั้งนี้ต้องขอดูทีโออาร์ก่อนว่าเป็นอย่างไร”
ลุ้นต่อคดีสายสีส้มภาคแรก
ส่วนความคืบหน้าคดีสายสีส้มรอบแรก กรณีการแก้ไขหลักเกณฑ์และยกเลิกการประมูลของรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ศาลฯอยู่ระหว่างการสืบพยานทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อประกอบข้อเท็จจริง
ขณะความคืบหน้าคดีที่ศาลปกครองยังอยู่ทั้งหมด 2 คดี ประกอบด้วย 1.คดีละเมิดการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลได้ตัดสินแล้วว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมายและยกฟ้องค่าเสียหาย 500,000 บาท
เนื่องจากบริษัทต้องจัดทำเอกสารข้อเสนอในการประมูลอยู่แล้ว โดยศาลพิจารณาให้จำหน่ายคดีบางส่วน 2.คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และรฟม.ยกเลิกประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลปกครองกลางพิจารณา
BEM- BTSC -STECซื้อซองแล้ว
รายงานข่าวจากรฟม. ระบุว่า หลังจากจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) สายสีส้ม พบว่า มีเอกชนเข้าร่วมซื้อซองประกวดราคาแล้ว จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 2.บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ3. บีทีเอสซี (BTSC)
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง อีก 3.2 หมื่นล้านบาท
คาดว่า รฟม.สามารถพิจารณาข้อเสนอของเอกชน แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นไปตามแผนงาน และเริ่มขั้นตอนก่อสร้าง เดือนกันยายน 2565 เพื่อเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี ในเดือนสิงหาคม 2568 และเปิดให้บริการส่วนตะวันตก ภายในเดือนธันวาคม 2570
การคัดเลือกเอกชนในครั้งนี้ รฟม.ยืนยันว่าต้องดำเนินการคัดเลือกอย่างรอบคอบ เพราะงานก่อสร้างสายสีส้มส่วนตะวันตก ต้องก่อสร้างลอดผ่านย่านชุมชนหนาแน่น (ห้วยขวางประชาสงเคราะห์)
ย่านเศรษฐกิจการค้าสำคัญ (ประตูน้ำ เพชรบุรีตัดใหม่) ย่านเมืองเก่า (ถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง โรงละครแห่งชาติ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา รพ.ศิริราช สถานีรถไฟธนบุรี)
นอกจากนี้ยังผ่านพื้นที่ซึ่งมีโบราณสถานและอาคารอนุรักษ์จำนวนมาก ซึ่งหากประสบปัญหาจากเทคนิคก่อสร้างที่ไม่ดีพอ จะทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินค่าได้