แผนรับมือช่วงฤดูน้ำหลาก ฤดูฝนของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จำนวน 13มาตรการ ที่เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติ ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องด้านน้ำนำไปปฏิบัติก่อนเข้าสู่ฤดูฝน และตลอดช่วงฤดูฝน
ในช่วงฤดูฝนปี2565 มีมาตการที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ การจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าและการจัดเตรียมพื้นที่อพยพ ทั้งนี้ สทนช. รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพตามกฎหมาย ในฐานะองค์กรกลางด้านน้ำ โดยมีหน่วยงานอื่นเข้าร่วม
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าว ว่าก่อนจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้า จะมีหน่วยงานพยากรณ์สภาพอากาศ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กทม. รวมทั้ง สทนช. คาดการณ์และประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
หาก ชัดเจน สทนช. จึงประกาศจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้า จะใช้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของเขตต่างๆ เป็นศูนย์บัญชาการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง
ดังนั้น ในขั้นตอนปัจจุบัน จึงเป็นเพียงการเตรียมความพร้อม โดยซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ โดยเฉพาะถ้าเกิดอุทกภัยหรือภัยแล้งในบางพื้นที่ขึ้น จะต้องทำกันอย่างไร
ทั้งนี้ สทนช. กำหนดสถานที่ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุไว้ 4 ภาค โดยภาคเหนือ-จ.พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-จ.อุบลราชธานี ภาคกลาง-จ.ชัยนาท และภาคใต้-จ.สุราษฎร์ธานี
“สุราษฎร์ธานี เคยใช้เป็นศูนย์ส่วนหน้ารับมืออุทกภัยภาคใต้คราวที่แล้ว ผลงานเป็นที่ยอมรับ สทนช. ได้ลงไปซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเป็นแห่งแรกในปีนี้ ช่วงต่อไปจะดำเนินการในภาคอื่นตามลำดับ”
ดร.สุรสีห์กล่าวว่า สถานที่ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุดังกล่าว ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นสถานที่ตั้งศูนย์สว่นหน้าเสมอไป ขึ้นกับเหตุอุทกภัยเกิดขึ้นที่ใด อาจขยับปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมแต่โดยรวมที่กำหนดเป็นสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขต
เนื่องจากเป็นศูนย์รวมเครื่องจักรเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และเป็นหน่วยงานในการบูรณาการประสานการปฏิบัติงานระหว่างจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกระทรวงมหาดไทยต่างให้การสนับสนุนด้วยดี จึงมั่นใจได้ว่าจะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น เป็นระบบมากขึ้น เท่ากับช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนจากการประสบภัยจากน้ำได้มีประสิทธิภาพด้วย
นอกจากศูนย์ส่วนหน้าแล้ว สิ่งที่จะพ่วงตามมา คือ การจัดเตรียมพื้นที่อพยพจากอุทกภัย แต่เดิมชาวบ้านต้องพึ่งพาตัวเอง อพยพตามมีตามเกิด ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง มีทั้งวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เท่าที่จะต้อนมาได้ แต่ส่วนใหญ่เอาชีวิตตัวเองและครอบครัวรอดก่อน สัตว์เลี้ยงมาได้แต่น้อย อีกทั้งไม่มีสถานที่และอาหารรองรับ สัตว์เลี้ยงจำนวนไม่น้อยถูกปล่อยให้น้ำท่วมตายโดยปริยาย
หลังจาก กอนช. เข้ามามีบทบาท ภารกิจส่วนนี้จึงมอบหมายให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพในการวางแผนและบูรณาการกับหน่วยปฏิบัติ ซึ่งจะมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ
“การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ทำให้เห็นทั้งข้อดี และข้อบกพร่องต้องแก้ไข พอถึงสถานการณ์จริง สามารถดำเนินการตามแผนที่ซักซ้อมมาได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ได้มีแค่หน่วยงานเดียว ยังต้องบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
มาตรการรับมือฤดูฝน นอกจากบรรเทาปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ตลอดจนบรรเทาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรก็ตาม กระบวนการและมาตรการรับมือฤดูฝน เริ่ม ดีขึ้นเป็นลำดับ มีทิศทางและรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น ประชาชนสามารถพึ่งพาหน่วยงานรัฐโดยตรงได้
นอกเหนือจากการพึ่งพาองค์กรหรือมูลนิธิการกุศลเพื่อสาธารณะของเอกชนที่ทำอยู่อย่างมีข้อจำกัดเป็นแนวโน้มที่ดีของการบริหารจัดการน้ำที่น่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงหลังมีการจัดตั้ง สทนช. เป็นองค์กรกลางด้านน้ำของประเทศ