นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานข่าวผ่านสื่อออนไลน์ ระบุว่าจากจังหวัดชัยภูมิพบการแพร่ระบาดโรคลัมปี สกินในหลายพื้นที่ รวมกว่า 10 อำเภอ โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบโคป่วยร่วมกว่า 357 ตัว และล่าสุดมีโคป่วยตายถึง 65 ตัว ทำสถิติสูงสุดในประเทศไทย ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิต้องระดมกำลังเร่งออกพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและยากำจัดแมลงในฟาร์มโครวมถึงฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่สัตว์กลุ่มเสี่ยงรอบจุดที่พบโรคในรัศมี 5 กิโลเมตร นั้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคลัมปี สกินของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม 2565 จนปัจจุบัน พบสัตว์ป่วยใหม่เพียง 2,002 ตัว ซึ่งสัตว์ป่วยนั้นส่วนใหญ่เป็นลูกสัตว์ที่เกิดใหม่ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน และไม่ได้มีการแพร่กระจายในวงกว้าง ซึ่งหากเปรียบเทียบจำนวนสัตว์ป่วยรายเดือนของปี 2565 เทียบกับปี 2564 พบว่ามีจำนวนลดลงมากถึงร้อยละ 116.7 โดยในปี 2564 พบค่าเฉลี่ยรายเดือนของจำนวนสัตว์ป่วยทั้งประเทศจำนวน 39,278 ตัว แต่ในปี 2565 ค่าเฉลี่ยรายเดือนของจำนวนสัตว์ป่วยทั้งประเทศจำนวน 334 ตัว โดยที่ผ่านมาตั้งแต่การระบาดของโรคลัมปี สกินในปี 2564 กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญในการควบคุมป้องกันโรค
กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรจากงบกลางจำนวน 203,107,702 บาท พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยใช้งบประมาณทดลองราชการแล้ว 52,389 ราย โค-กระบือ 58,089 ตัว วงเงิน 1,221,823,020 บาท อยู่ระหว่างการช่วยเหลืออีก 1,596 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.82 ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้อยู่ระหว่างการของบประมาณเพิ่มเติมจากงบกลางเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรในบางพื้นที่เพิ่มเติม จำนวน 203,107,702 บาท
โดยในปี 2565 ที่พบรายงานสัตว์ป่วยนั้นส่วนใหญ่เป็นลูกสัตว์ที่เกิดใหม่ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน ดังนั้นจึงขอรณรงค์ให้เจ้าของสัตว์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินให้แก่ลูกสัตว์ที่เกิดใหม่ สัตว์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และสัตว์ที่ได้รับวัคซีนมาแล้วนานกว่า 1 ปี โดยการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พบว่าในปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนการนำเข้าวัคซีนโรคลัมปี สกินแล้ว คือ บริษัทอินเตอร์เว็ท (ประเทศไทย) จำกัด
ดังนั้นหากเจ้าของสัตว์มีความต้องการวัคซีนเพื่อป้องกันโรคสามารถประสานงานกับบริษัทได้โดยตรง ทั้งนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินในลูกสัตว์เกิดใหม่หากแม่ของลูกสัตว์ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนสามารถฉีดในลูกสัตว์ได้ทันทีี แต่กรณีแม่มีประวัติป่วย หรือมีประวัติได้รับการฉีดวัคซีนในช่วงก่อนการตั้งท้อง สามารถฉีดในลูกสัตว์ตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เน้นย้ำมาตรการการดำเนินการการควบคุมและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคและได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ เร่งรัดดำเนินการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรค ดังต่อไปนี้
1. รณรงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและยากำจัดแมลงในฟาร์มโค กระบือ จุดที่พบโรคและรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค ตลาดนัดค้าสัตว์ เป็นต้น โดยการรณรงค์พ่นยานั้นขอให้ดำเนินการพร้อมกันทั้งหมู่บ้านหรือชุมชนเพื่อให้การดำเนินการเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ควรมีการรณรงค์ทำความสะอาดปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำ
2. ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ให้กับลูกสัตว์และสัตว์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโรคลัมปี สกิน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอัตราการตายสูงสุด และสัตว์ป่วยจะแสดงอาการรุนแรง
3. ประสานขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำเกษตรกรในชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมดำเนินการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและยากำจัดแมลงในฟาร์มโค กระบือ
4. ประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับโรคและวิธีการป้องกันโรคลัมปีสกิน โดยการใช้ หลอดไฟไล่แมลงและกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด การใช้ยาฆ่าแมลงแบบพ่นและแบบราดบนตัวสัตว์ การปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของสถานที่เลี้ยงสัตว์รวมทั้งให้ข้อมูลสถานการณ์โรคที่เป็นปัจจุบันเพื่อให้เกษตรกรเข้มงวดเฝ้าระวังและสังเกตอาการสัตว์ของตนเอง หากพบอาการสงสัยตามนิยาม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที
5. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการลงพื้นที่ในฟาร์มโคเนื้อ โคนม และกระบือ เพื่อค้นหาสัตว์ป่วย สร้างความร่วมมือ และสร้างเครือข่ายในพื้นที่ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานในการควบคุมโรคตามมาตรการที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด ตามหลัก "รู้เร็ว คุมเร็ว สงบโรคได้เร็ว"
ท้ายนี้กรมปศุสัตว์ ขอเน้นย้ำว่าหากพบสัตว์แสดงอาการน่าสงสัยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบลในพื้นที่ หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร 063-225-6888 หรือผ่านแอปพริเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที ทั้งนี้หากเกษตรกรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการป้องกันและควบคุมการเกิดโรคอย่างเคร่งครัด สัตว์ของท่านก็จะปลอดจากโรคดังกล่าว อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด