นายมงคล เฮงโรจนโสภณ นายกสมาคมเพื่อนชุมชน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมมือกับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ต้นแบบในเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ตามแนวทางธรรมศาสตร์โมเดล รุ่นที่ 7/2565 ใน 9 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการของวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด ให้สามารถขยายตลาด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเชิงการค้าสู่มาตรฐานสากล
สำหรับความร่วมมือครั้งดังกล่าวนี้ เป็นความก้าวหน้าของการขยายผลเพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชน ที่ได้ร่วมกับคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนต้นแบบเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์
โดยนำหลักธรรมศาสตร์โมเดลมาดำเนินการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้แก่วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ให้มีขีดความสามารถในการบริการในเชิงการค้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิจัยและพัฒนาระหว่างชุมชน และคณาจารย์ นักศึกษาโครงการบูรณาการปริญญาตรี - โท หลักสูตร 5 ปีของ ม.ธรรมศาสตร์ ที่ทำหน้าที่ลงพื้นที่ปฎิบัติภารกิจ ในการให้คำแนะนำ และเป็นพี่เลี้ยงให้กับ 9 ชุมชนเป้าหมาย ใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใต้กรอบความร่วมมือระยะเวลา 1 ปี
นายมงคล กล่าวต่อไปอีกว่า วิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ 9 กลุ่มเพื่อพัฒนาสินค้าอุปโภคและบริโภค ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านประมงเรือเล็กตากวน-อ่าวประดู่ (มาบตาพุด), วิสาหกิจชุมชนกลุ่มตัดเย็บเครื่องหนัง ชนันทน์วัชเครื่องหนัง (บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์หอมมะหาด (บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนชากลูกหญ้าพัฒนา (ห้วยโป่ง)
,วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมสุขใจ (เนินพระ), วิสาหกิจชุมชนครัวแม่ฉัน By Nana (เนินพระ), วิสาหกิจชุมชนมุนดินฟาร์มเกษตร (บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนโคเนื้อบาร์มันบ้านแซมไฮซ์ (บ้านฉาง), วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรผสมผสาน ฐานเรียนรู้สวนคุณย่าชุมชนหนองแฟบ (มาบตาพุด)
อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาวิสหากิจชุมชนที่ผ่านมา สามารถสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลพัฒนาทั้งด้านการตลาด การบริการ ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
จากความร่วมมือดังกล่าว เป็นแผนขับเคลื่อนต่อเนื่องของสมาคมฯ จากแผนงานด้านสังคมและเศรษฐกิจ หรือ Social Economy เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง จากการมีส่วนร่วมของ 3 ฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
โดยชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอาชีพ ทั้งในรูปของสินค้าและบริการ โดยมีขบวนการพัฒนาความรู้ ในการบริหารจัดการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ แพกเกจจิ้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ โครงการเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล ยังได้เชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันเป็นบริษัทพี่เลี้ยง ให้กับวิสาหกิจชุมชนแต่ละกลุ่ม โดยทำงานร่วมกับนักศึกษา ในการยกระดับศักยภาพ ทั้งด้านบริหารจัดการ การปรับปรุงคุณภาพสินค้า
และการบริการ สร้างรายได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการค้าให้กับวิสาหกิจชุมชน จ.ระยอง สู่มาตรฐานสากล ตลอดจนร่วมกันขับเคลื่อนต้นแบบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ให้กับจังหวัดระยองต่อไป