“อุตตม”ชี้ขีดแข่งขันไทยลดฮวบ สะท้อนอนาคตประเทศเสี่ยงสูง

17 มิ.ย. 2565 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2565 | 16:49 น.

“อุตตม”ชี้ตัวเลขขีดความสามารถทางการแข่งขันไทยตก สะท้อนอนาคตประเทศมีความเสี่ยงสูง แนะเร่งยกระดับสินค้าส่งออก แก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน และจัดหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการ

วันที่ 17 มิ.ย. 65 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจถึง 3 ลูก โดยลูกแรกคือ โควิด แม้จะทุเลาลงแต่ก็ได้สร้างบาดแผลทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง 

 

ลูกที่ 2 คือ ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามยูเครน และลูกที่ 3 ซึ่งกำลังก่อตัวรุนแรงขึ้น คือภาวะเงินเฟ้อ ที่ส่งผลทำให้สินค้าราคาแพง กระทบกับการทำธุรกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน

“เรากำลังเผชิญกับปัญหาทั้งต้นทุนพลังงาน ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก สหรัฐอเมริกากำลังห่วงว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย จีนก็ยังไม่เปิดประเทศ ขณะที่ไทยต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ จึงมีคำถามว่าเราจะบริหารจัดการกับภาวะท้าทายที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ไม่ใช่เพียงการจัดการระยะสั้น แต่ต้องมองไปถึงความยั่งยืนในอนาคตด้วย”

 

นายอุตตม กล่าวอีกว่า ความกังวลประการหนึ่ง คือตัวเลขผลสำรวจขีดความสามารถทางการแข่งขันจากมุมมองของนักบริหารทั่วโลก ที่เพิ่งเผยแพร่โดยสถาบัน TMA ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่า ปี 2565 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 33 จากปีก่อนที่อยู่ในอันดับที่ 28 เป็นการลดลงถึง 5 อันดับ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยพบว่าประเทศไทยจะมีอันดับลดลงมากขนาดนี้

โดยสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ลดลง มีผลมาจากปัจจัยหลักในเรื่องการค้า ทั้งการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงจากโควิด ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการต่อเนื่อง 

 

ส่วนการส่งออกแม้ที่ผ่านมาจะมีตัวเลขที่สูงขึ้น แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนทั่วโลก ทำให้เราไม่สามารถไว้วางใจได้ ที่สำคัญประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับสินค้าส่งออกให้สู้กับคู่แข่ง และตรงความต้องการของตลาดโลกในปัจจุบัน รวมทั้งพัฒนาระบบเศรษฐกิจจากฐานราก เพื่อความยั่งยืนในอนาคต 

 

ส่วนประสิทธิภาพภาครัฐ อันดับที่ตกลงมาเกิดจากการบริหารการคลัง ที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อบริหารจัดการผลกระทบโควิด ซึ่งผลการจัดอันดับนี้เป็นสัญญาณที่ชี้ว่า คนภายนอกหรือผู้บริหารทั่วโลกมองประเทศไทยอย่างไร มีความสามารถควบคุมความเสี่ยงด้านการคลังแค่ไหน เราจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาดูแลยามวิกฤตเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ต้องดูว่ากู้มาแล้วเอาไปทำอะไร แก้ไขปัญหาถูกจุดหรือไม่ วันนี้เรากู้เต็มเพดานแล้วจะมีผลกระทบกับการคลังในอนาคตอย่างไร

 

สำหรับประสิทธิภาพภาคเอกชนที่ลดลง ต้องยอมรับว่าเป็นผลสะท้อนจากสมรรถนะเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพภาครัฐมีผลต่อประสิทธิภาพของเอกชน เนื่องจากรัฐบาลคือผู้ขับเคลื่อนนโยบายที่จะสนับสนุนภาคเอกชน วันนี้ต้องดูว่านโยบายของภาครัฐนั้นถูกทิศทางและทันต่อสถานการณ์หรือไม่ ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตอบโจทย์กับความเสี่ยงในอนาคตหรือไม่ 

 

ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ทั้งหนี้สินครัวเรือน หนี้สินธุรกิจ และหนี้สินนอกระบบ นอกจากนี้แล้วยังต้องมีแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการให้สามารถประกอบกิจการได้ต่อไปด้วย