ส่งสัญญาณรับมือ วิกฤติยูเครนยื้อยาว-แรงขึ้น น้ำมันดิบโลกพุ่ง 150 ดอลลาร์

19 มิ.ย. 2565 | 13:07 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2565 | 21:09 น.

ประธาน ส.อ.ท. ชี้น้ำมัน-เงินเฟ้อยังขาขึ้น ส่งสัญญาณสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่อยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น อาจได้เห็นน้ำมันดิบโลกพุ่ง 140-150 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ขอรัฐตรึงลดภาษีดีเซล 5 บาทยาว 6 เดือนช่วยลดภาระประชาชน-ภาคธุรกิจ ลุ้นท่องเที่ยวสตาร์ทติด อีกเครื่องยนต์ฟื้น ศก.

 

วิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร และปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก จากผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) วัตถุดิบอาหารคน อาหารสัตว์ และพลังงาน ดันราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาลต้องนำมาอุดหนุนราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม(LPG) ทำให้กองทุนฯติดลบแล้วในเวลานี้มากกว่า 9 หมื่นล้านบาท

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายคาดราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 100-110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่จากความตึงเครียด และความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 110-120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้วในเวลานี้

 

 

ส่งสัญญาณรับมือ วิกฤติยูเครนยื้อยาว-แรงขึ้น น้ำมันดิบโลกพุ่ง 150 ดอลลาร์

 

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่าหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ และเกิดบานปลายไป โดยชาติตะวันตก และสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ ยังส่งอาวุธร้ายแรงไปช่วยเหลือยูเครนอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่สถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อบานปลาย และอาจใช้อาวุธที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นมา อาจจะส่งผลให้น้ำมันดิบทะลุขึ้นไปถึง 140-150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลได้ ซึ่งจะยิ่งเป็นภาระต่อทั่วโลก เพราะจะส่งผลต่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอีก

 

"ราคาน้ำมันดีเซลไทยที่รัฐบาลตรึงไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 35 บาท เวลานี้ชนเพดานแล้ว ซึ่งจริง ๆ ราคาตามกลไกตลาดแพงกว่านี้มาก แต่รัฐบาลพยายามพยุงเอาไว้โดยชดเชยราคาจนทำให้เวลานี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบันติดลบแล้วกว่า 9 หมื่นล้าน หากปล่อยไปอีกในลักษณะนี้ ก็อาจจะทำให้กองทุนติดลบบานปลายอาจเป็นแสนล้านบาท ในอีกไม่นาน เพราะฉะนั้นการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลภาคธุรกิจเอกชนก็รับทราบมาตั้งแต่ต้นแล้ว ก็มีการวางแผนรับมือไว้แล้วว่า ถ้า 32 บาท 33 บาท 34 บาทจะเป็นต้นทุนเท่าไหร่ ซึ่งในแต่ละช่วงของราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมา ส่งผลทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นแน่นอนแต่ส่วนใหญ่ยังช่วยตรึงราคาไว้"

 

ส่งสัญญาณรับมือ วิกฤติยูเครนยื้อยาว-แรงขึ้น น้ำมันดิบโลกพุ่ง 150 ดอลลาร์

 

อย่างไรก็ดีทราบว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 นี้คาดจะปรับขึ้นอีก 40 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.40 บาทต่อหน่วย และรัฐบาลอาจจะขยายเพดานตรึงราคาน้ำมันดีเซล จากลิตรละ 35 บาท เป็นลิตรละ 38 บาทในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จะทำให้รัฐบาลมีภาระในการอุดหนุนราคาพลังงานเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นต้นทุนทางด้านพลังงานก็จะสูงขึ้นอีก เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเวลานี้ทุกประเทศก็เผชิญปัญหาเดียวกันหมด ทั้งค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า เงินเฟ้อสูงขึ้น ตัวอย่างเวลานี้ในยุโรปเช่น เยอรมนีเจอเงินเฟ้อขึ้นไปถึง 8% สูงสุดในรอบ 50 ปี

 

“ปีนี้โลกมีปัญหา 2 เรื่องใหญ่ ๆ  คือ ภาวะเงินเฟ้อสูง อันเนื่องจากราคาพลังงาน ปัญหาที่ 2 คือ ปัญหาการขาดแคลนอาหาร ซึ่งตอนนี้น่ากลัวกว่า เพราะจะส่งผลทำให้ราคาอาหารยิ่งแพงเข้าไปใหญ่ แต่แพงไม่ว่า ตอนนี้มีแนวโน้มที่จะขาด ซึ่งหลายประเทศก็กังวลเรื่องผลผลิตทางด้านอาหาร ทางด้านการเพาะปลูกในช่วงไตรมาสที่ 3 ไตรมาสที่ 4  ปีนี้ผลผลิตอาจจะลดลงไป จากรัสเซียไม่ส่งออกปุ๋ยเคมี ทำให้ทั่วโลกขาด ตรงนี้จะส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรในไตรมาสที่ 3-4 จะลดลง”

 

ส่งสัญญาณรับมือ วิกฤติยูเครนยื้อยาว-แรงขึ้น น้ำมันดิบโลกพุ่ง 150 ดอลลาร์

 

ขณะนี้เกิดสัญญาณแล้ว หลายประเทศโดยเฉพาะยุโรปก็เริ่มมีการขาดแคลนตามที่เป็นข่าว ถ้าขาดแคลนอาหารและกระทบกับอีกหลายร้อยล้านคนก็จะเป็นปัญหาทางสังคม ปัญหาคนอดอยาก และลุกฮือกันในหลายประเทศจากนี้ไป ก็จะเป็นวิกฤติ หากสงครามยืดเยื้อหรือบานปลาย หรือรุนแรงออกไป  ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน

 

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า จากที่ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ได้ปรับฐานใหม่พุ่งขึ้นจาก 100-110 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 110-120  ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และอนาคตกรณีเลวร้าย หากน้ำมันดิบปรับขึ้นถึง 140-150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศก็จะต้องปรับขึ้นอีก ก็จะยิ่งกระทบไปหมดทั้งไทยและทั่วโลก รวมถึงกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และต้องปรับเพิ่มราคาสินค้า เงินเฟ้อก็จะยิ่งปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมแผนรับมือ

 

อย่างไรก็ดี เรื่องการขาดแคลนอาหารทั่วโลกในอีกด้านหนึ่ง ถือว่าเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกอาหาร โดยต้องพยายามไม่ให้ซัพพลายเชนวัตถุดิบอาหารต่างๆ ขาดแคลน ซึ่งราคาสินค้าแพงไม่เป็นไร เพราะต่างประเทศยินดีซื้อ  ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการในเรื่องนี้ให้ดี โดยเวลานี้ภาคเอกชนพยายามทำใน 3 ด้านคือ

 

1.ต้องพยายามหาแหล่งวัตถุดิบ หรือแหล่งซื้อใหม่จากประเทศใหม่ ๆ เพิ่มเติม 2.ทำอย่างไรในการไปเซ็นสัญญาซื้อระยะยาว ปีสองปีผูกไว้เลย และในระหว่างผูกสัญญาระยะยาวก็ยอมปรับราคาตามสภาพความเป็นจริง ยอมรับสภาพของราคาที่ปรับตลอดที่ผูกสัญญาไว้ แต่ขอให้มีของ และ 3.ขณะนี้มีหลายบริษัทที่เริ่มทำควบคู่ขนานไปคือการปรับสูตรอาหารสัตว์ โดยการใช้วัตถุดิบในประเทศเข้ามาทดแทน เหล่านี้เอกชนก็เริ่มทำกันอย่างเต็มที่ในเวลานี้ทั้ง 3 วิธี

 

ส่วนเรื่องน้ำมันแพง ซึ่งรัฐบาลได้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้ 5 บาทต่อลิตรนาน 2 เดือน(ถึง 20 ก.ค.) หากดูสถานการณ์น้ำมันที่ปรับขึ้นเวลานี้อาจจะต้องขยายเวลาออกไปเป็น 2+2+2 หรือเป็น 6 เดือน

 

ส่งสัญญาณรับมือ วิกฤติยูเครนยื้อยาว-แรงขึ้น น้ำมันดิบโลกพุ่ง 150 ดอลลาร์

 

ขณะเดียวกันจากที่ไทยเปิดประเทศ ภาคการท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ หากทุกอย่างเอื้ออำนวย และทางกลุ่มทางด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พวกโรงแรม  และอื่น ๆ มีความพร้อมก็สามารถจะรองรับนักท่องเที่ยวได้มาก

 

หาก 6 เดือนหลังของปีนี้ไทยสามารถรับนักท่องเที่ยวได้เดือนละล้านคน ก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 6 ล้าน หรือ 6 ล้านกว่าคนถึงสิ้นปีนี้ อย่างน้อยจะทำให้เครื่องยนต์ตัวที่ 2 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญอีกตัว เริ่มสตาร์ทเครื่องติด ประเทศก็จะมีสภาพคล่อง มีเม็ดเงินเข้ามา มีการจ้างงาน มีเงินหมุนเวียน ทำให้คนมีกำลังซื้อ และอะไรต่าง ๆ ตรงนี้จะช่วยได้ดีขึ้น สถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น  แต่หวังว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะไม่บานปลายจนกระทบนักท่องเที่ยว