ราคาค่าการกลั่นน้ำมันแพงจริงหรือไม่ โรงกลั่นโต้ "กรณ์" เสนอข้อมูลบางส่วน

20 มิ.ย. 2565 | 04:05 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2565 | 11:05 น.

ราคาค่าการกลั่นน้ำมันแพงจริงหรือไม่ โรงกลั่นโต้ "กรณ์" เสนอข้อมูลแค่บางส่วนบิดเบือนความเป็นจริง ย้ำค่าการกลั่นที่ยกมาไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ

ตามที่นายกรณ์ จาติกวณิช ได้นำเสนอประเด็น คนไทยโดนปล้น ค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า ผ่านสื่อมวลชนหลายแห่ง วันที่ 12 มิถุนายน 2565 โดยมีประเด็นหลักคือ ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 0.87-0.88 บาท/ลิตร ในเดือนมิถุนายนปี 2563 และ ปี 2564 เพิ่มเป็น 8.56 บาท/ลิตร ในเดือนมิถุนายน ปี 2565  พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน 3 แนวทาง 1. กำหนดเพดานการกลั่น 2. เก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) 3. จริงจังกับมาตรการประหยัดการใช้พลังงาน

 

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) (กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ 

 

ประเด็นที่ 1  ข้อมูลที่นายกรณ์นำเสนอเป็นการเลือกข้อมูลบางส่วนขึ้นมา เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด โดยค่าการกลั่นที่นายกรณ์ยกมานั้น  ไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ (Market GRM) และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ   นอกจากนี้ ข้อมูลที่เลือกมาเป็นฐานในการเปรียบเทียบ เป็นข้อมูลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 (2563-2564) ซึ่งค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากๆ  

 

เมื่อนำมาเปรียบเทียบ จะทำให้เข้าใจผิดว่าค่าการกลั่นในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติ  หากนำข้อมูลค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับจริง ในช่วงสถานการณ์ก่อนโควิด-19 ในปี 2561-2562 มาเปรียบเทียบ พบว่า ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 สูงขึ้นเพียงประมาณ 0.47 บาทต่อลิตร จากช่วงสถานการณ์ปกติเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สูงถึง 10 เท่าและสูงถึง 8 บาทต่อลิตร อย่างที่กล่าวอ้าง (ตามตารางด้านล่าง)  

 

ตารางค่าการกลั่น

ประเด็นที่ 2  ต้นทุนการกลั่นไม่ได้คงที่ แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าพรีเมียม ของน้ำมันดิบ (ราคาส่วนเพิ่มของน้ำมันดิบที่กลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง) ค่าขนส่งน้ำมัน ค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เป็นต้น รวมถึงค่าแรงที่มีการปรับขึ้นอย่างเป็นประจำ

 

และการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดและมาตรฐานคุณภาพของน้ำมัน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติการในโรงกลั่น ความปลอดภัย เป็นต้น

 

เปิดข้อเท็จจริงจากโรงกลั่นน้ำมันโต้ "กรณ์"

 

ประเด็นที่ 3  โรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจากค่าการกลั่นเป็นผลลัพธ์จากราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่ขายจริงทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต หักด้วยราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย  รวมถึงต้องหักค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เช่น ค่าความร้อน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสูญเสีย เป็นต้น โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตาม

 

ราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมถึงสต๊อกน้ำมัน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ

 

เปิดข้อเท็จจริงจากโรงกลั่นน้ำมันโต้ "กรณ์"

สำหรับประเด็นดังกล่าวนี้นั้น  มาจากก่อนหน้านี้นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า นำเสนอข้อมูลว่า  ราคาน้ำมันในปัจจุบันมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก มีส่วนมาจากค่าการกลั่นน้ำมันในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 เท่าจากปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 8.56 บาทต่อลิตร (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 65) จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกต้นทุนอยู่ที่ 25.92 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 34.48 บาทต่อลิตร 

 

นายกรณ์ได้ ระบุว่า หากเปรียบเทียบราคาค่าการกลั่นน้ำมันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า 

 

  • วันที่ 10 มิ.ย. 63 ราคาน้ำมันดิบดูไบเมื่อเทียบเป็นราคาเงินบาทจะอยู่ที่ 8.10 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนที่โรงกลั่นต้องซื้อมา ขณะที่เฉลี่ยราคาขายสำเร็จรูปอยู่ที่ 8.99 บาทต่อลิตร ต้นทุนการกลั่นอยู่ที่ 88 สตางค์ต่อลิตร

 

เปิดข้อเท็จจริงจากโรงกลั่นน้ำมันโต้ "กรณ์"

 

  • วันที่ 10 มิ.ย. 64 ราคาน้ำมันดิบดูไบเมื่อเทียบเป็นราคาเงินบาทจะอยู่ที่ 14.01 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนที่โรงกลั่นต้องซื้อมา ขณะที่เฉลี่ยราคาขายสำเร็จรูปอยู่ที่ 14.88 บาทต่อลิตร ต้นทุนการกลั่นอยู่ที่ 87 สตางค์ต่อลิตร

 

  • วันที่ 10 มิ.ย. 65  ราคาน้ำมันดิบดูไบเมื่อเทียบเป็นราคาเงินบาทจะอยู่ที่ 25.92 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนที่โรงกลั่นต้องซื้อมา ขณะที่เฉลี่ยราคาขายสำเร็จรูปอยู่ที่ 34.48 บาทต่อลิตร  ต้นทุนการกลั่นอยู่ที่ 8.56 บาทต่อลิตร
     

"จากตัวเลขดังกล่าวถือว่าค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น 10 เท่า ทั้งที่ต้นทุนการกลั่นไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสูงขึ้น  แต่ราคาขายก็สูงขึ้น แต่ส่วนต่างของกำไรของเหล่าโรงกลั่นไทยเพิ่มเกือบ 10 เท่า  ซึ่งเป็นภาระของประชาชน ภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นหนี้มากขนาดนี้ โดยปัจจุบันติดลบ 8.6 หมื่นล้าน  และไม่มีคำอธิบายว่าทำไมรัฐปล่อยให้มีการทำกำไรมากขนาดนี้  ขณะทีประชาชนเดือดร้อน"