“ดารุมะซูชิ" เรื่องต้องรู้ “สิทธิพนักงานถูกลอยแพ" ได้รับเยียวยาอะไรบ้าง

21 มิ.ย. 2565 | 03:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2565 | 12:29 น.

กรณี ร้าน “ดารุมะซูชิ" มีประเด็นที่ลูกจ้างต้องรู้เกี่ยวกับ “สิทธิพนักงานถูกลอยแพ" ต้องได้รับเยียวยา ชดเชยอะไรบ้าง

 “ดารุมะซูชิ” บุฟเฟ่ต์แซลมอนดัง หลอกขายวอยเชอร์ 199 บาท เจ้าของปิดเพจ หอบเงินไปต่างประเทศ  ทิ้งลูกค้า ลอยแพพนักงานนับร้อยชีวิต ในด้านหนึ่งได้เห็นผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหาร ทยอยออกมาช่วยเหลือพนักงานเหล่านี้  แต่อีกด้านที่สำคัญ ในมิติของ "ลูกจ้าง" การเลิกจ้าง นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและรายได้

กระทรวงแรงงานถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  หรือ กสร. ส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริง  โดยพบว่า ร้าน "ดารุมะซูชิ" นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถือเป็น "การเลิกจ้าง" ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ

  • ค่าจ้าง
  • ค้างจ่าย
  • ค่าชดเชย
  • สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
  • เงินอื่นตามที่ตกลงกับนายจ้าง

พนักงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ

  • สามารถเข้ามายื่นคำร้อง คร.7
  • ยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

 

ค่าชดเชย เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง

ลูกจ้าง ควรรู้เมื่อถูกให้ออกจากงานแบบกะทันหัน ตกงานไม่ทันตั้งตัว สามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเท่าไร  เพื่อให้เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม โดยหากมองเรื่อง "ค่าชดเชย" ที่ลูกจ้างควรจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง จะต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 

ตามบทบัญญัติมาตรา 118 "ค่าชดเชย" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งการเลิกจ้างที่จะได้รับค่าชดเชย จากนายจ้างนั้นต้องเป็นการเลิกจ้างตามความหมายที่กําหนดไว้ในมาตรา 118 วรรคสองด้วย

 

หมายถึงการเลิกจ้าง ที่เกิดจากการกระทําใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทํางานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุด สัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด หรือการเลิกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทํางาน และไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้าง ไม่สามารถดําเนินกิจการต่อไป

 

ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชยเป็นเงินเท่าไร

กรณีถูกเลิกจ้างกะทันหัน ได้เงินชดเชยเท่าไหร่?

ค่าชดเชย (Severance Pay) คือเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือไปจากเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5

 

การถูกเลิกจ้างกะทันหัน ตามกฎหมายจะได้เงินจากนายจ้าง คือ ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง และ ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 

 

ค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง

  • ทํางานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 30 วันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณ เป็นหน่วย
  • ทํางานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 90 วันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณ เป็นหน่วย
  • ทํางานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 180 วันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณ เป็นหน่วย
  • ทํางานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 240 วันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณ เป็นหน่วย
  • ทํางานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือ ไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 300 วันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคํานวณเป็นหน่วย

 

ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

กรณีเลิกจ้างทั่วไป

  • ให้นายจ้างจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง คือ ถ้าได้ค่าจ้างเป็นเงินเดือนรอบละ 30 วัน นายจ้างจะต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน หรือถ้าได้รับค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ก็ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับ 7 วัน

 

กรณีเลิกจ้าง เพราะการปรับปรุงหน่วยงาน จนต้องลดจำนวนลูกจ้างลง

  • ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน
  • หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้เงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน (2 เดือน) เช่น เงินเดือน 25,000 บาท ก็จะได้รับเงินชดเชย 25,000 x 2 เท่ากับ 50,000 บาท
  • หากลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีก ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วัน ต่อการทำงานครบ 1 ปี (รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน)

 

กรณีเลิกจ้าง เพราะย้ายสถานประกอบกิจการ

  • ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้รับเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน)
  • หากมีการบอกล่วงหน้าถูกต้อง แต่ลูกจ้างไม่ต้องการย้ายไปทำงานที่ใหม่ ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 50% ของค่าชดเชยถูกเลิกจ้างที่มีสิทธิได้รับ

 

ลูดจ้องต้องได้เงินชดเชยถูกเลิกจ้าง ตอนไหน

  • นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน
  • แต่หากยังไม่ได้เงินชดเชยดังกล่าว สามารถยื่นร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด
  • ส่วนกรุงเทพฯ ยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากถือว่าเป็นการเข้าข่ายการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

 

ข้อมูล : กระทรวงแรงงาน