"กฎหมายเช็คเด้ง” ยกเลิกเมื่อไหร่ ใช้กฎหมายอะไรแทน โทษหนักขนาดไหน

21 มิ.ย. 2565 | 22:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2565 | 08:40 น.

"กฎหมายเช็คเด้ง” ยกเลิกเรียบร้อย หลังผ่านการเห็นชอบจาก ครม. ไปดูรายละเอียดกันต่อว่าจะมีผลเมื่อไหร่ หากเจอโกงเช็ค ตั้งใจฉ้อโกง คดีเช็คเด้ง ต้องใช้กฎหมายอะไรแทน มีโทษหนักขนาดไหน

การยกเลิก "กฎหมายเช็คเด้ง" หรือ ยกเลิก "พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534" ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม.เป็นที่เรียบร้อย ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ ไปดูรายละเอียดกันต่อไปว่า เมื่อยกเลิกกฎหมายแล้ว ต่อไปหากเจอโกงเช็ค ตั้งใจฉ้อโกง คดีเช็คเด้ง ต้องใช้กฎหมายอะไรแทน และมีโทษหนักขนาดไหน 

 

เหตุผลของการยกเลิกกฎหมายเช็คเด้ง

 

กระทรวงยุติธรรม รายงานว่า กฎหมายฉบับเดิม มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการใช้เช็คในการทำธุรกรรม และกำหนดให้การใช้เช็คที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงเป็นการกระทำความผิดทางอาญา

 

โดยกำหนดความผิดสำหรับการใช้เช็คที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะที่เป็นการหลอกลวง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดหลักการให้พึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง และไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในข้อ 11 ที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้ 

 

ประกอบกับปัจจุบันระบบการชำระเงินของประเทศได้มีการพัฒนาเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต และระบบโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว ทางกระทรวงยุติธรรม จึงเสนอยกเลิกกฎหมายเช็คเด้งฉบับดังกล่าว

ระยะเวลาการยกเลิกกฎหมายเช็คเด้ง

  • มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ยกเลิกกฎหมายเช็คเด้ง แล้ว ใช้กฎหมายอะไรแทน

  • เมื่อมีการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 แล้ว หากเกิดกรณีที่ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริต แต่เช็คไม่สามารถขึ้นเงินได้ เช่น เงินในบัญชีของลูกหนี้ไม่เพียงพอ เจ้าหนี้สามารถฟ้องผิดสัญญาทางแพ่งเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ใช้เงินตามเช็คนั้น 
  • แต่ถ้าลูกหนี้มีเจตนาทุจริตเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับเงิน อาจเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นได้ เช่น ความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประโยชน์ของการยกเลิกกฎหมายเช็คเด้ง

  • เกิดเป็นประโยชน์ต่อธนาคารพาณิชย์ให้สามารถใช้มาตรการทางธนาคารสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเช็คโดยกำหนดมาตรการกลั่นกรองลูกค้าขอใช้เช็ค โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดบทลงโทษทางอาญา 
  • ลดปัญหาเกี่ยวกับการใช้โทษทางอาญาบีบคั้นกับลูกหนี้ทางแพ่งให้ชำระหนี้ และสามารถประหยัดงบประมาณในการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
  • ทำให้ประเทศไทยมีหลักกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศ 

 

อย่างไรก็ตามในการดำเนินการดังกล่าว กระทรวงยุติธรรม ได้แจ้งต่อที่ประชุมครม. ว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา และเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงเสนอมาให้ที่ประชุมเห็นชอบ จากนั้นจึงให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้