รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงเตรียมพิจารณาทบทวนแนวทางการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศให้มีความเหมาะสมมากขึ้น จากปัจจุบันที่รัฐบาลมีนโยบายให้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเหลือครึ่งหนึ่ง เพื่อตรึงราคาขายปลีกไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร จากก่อนหน้านี้ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุน 100% เพื่อตรึงไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่มีความยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานตลาดโลกรวมถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคงถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนแนวทางการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศดังกล่าว
อย่างไรก็ดี รัฐบาลคงต้องหาเงินมาช่วยสนับสนุนกองทุนน้ำมันฯ เพราะยอมรับว่าจากนี้ไปสถานะของกองทุนน้ำมันฯจะติดลบต่อเนื่องตราบใดที่รัฐบาลยังมีนโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน ทั้งที่ยังไม่มีเงินจากแหล่งไหนเข้ามาเสริมสภาพคล่อง
ขณะที่กองทุนน้ำมันฯได้ทยอยผ่อนคลายการอุดหนุนมาเป็นระยะๆ แต่ยังคงมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง และควรเน้นความช่วยเหลือให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างพ่อค้าแม่ค้า ผู้มีรายได้ และอุตสาหกรรมภาคขนส่งที่มีผลต่อราคาสินค้าให้สามารถซื้อเชื้อเพลิงได้ในราคาถูกกว่าในตลาด
“ในระยะต่อไปอาจต้องมีการทบทวนมาตรการให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกที่ผันผวนสูงให้มากขึ้น แต่ไม่ถึงกับการปล่อยลอยตัว เพราะจะกลายเป็นการสร้างปัญหาหนักเกินไป เช่น อาจปรับลดการอุดหนุนเหลือ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของราคาเชื้อเพลิงได้หรือไม่ จากปัจจุบันอุดหนุนอยู่ครึ่งหนึ่ง ส่วนประชาชนที่มีกำลังซื้อสูงกว่ารัฐอาจช่วยเหลือในเรื่องการให้ส่วนลดผ่านโครงการต่างๆ เช่น ชิมช้อปใช้ หรือเที่ยวด้วยกัน ต่อไปเป็นต้น”
สำหรับสถานะปัจจุบันของกองทุนน้ำมันฯ นั้น ติดลบอยู่ 1.02 แสนล้านบาท โดยกองทุนอุดหนุนราคาดีเซล 11.07 บาทต่อลิตร ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร หรือครึ่งหนึ่งของราคาจริงซึ่งควรจะอยู่ที่ 46.01 บาทต่อลิตร
โดยถือเป็นการอุดหนุนในอัตราที่ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ 12-13 บาทบาทลิตร คิดเป็นเงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันฯวันละประมาณ 700 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 20,000 ล้านบาท
ส่วนก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี (LPG) ก็ได้ปรับขึ้นกิโลกรัม(ก.ก.) ละ 1 บาททุกเดือน ทำให้กองทุนอุดหนุนแอลพีจีวันละ 47 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 1,400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กองทุนน้ำมันฯยังติดตามและประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากข้อมูลจริงวันนี้ราคาดีเซลมีโอกาสปรับขึ้นไปอยู่ที่ 36 บาทต่อลิตรได้ แต่กองทุนน้ำมันฯก็เข้าใจดี จึงต้องช่วยแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งต้องการให้เน้นเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้ได้มากที่สุด
แต่จะมีการปรับเพดานอุดหนุนหรือราคาขายปลีกหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้ เนื่องจากเกรงว่าผู้ค้าน้ำมันอาจจะมีการกักตุนน้ำมันหากทราบว่าจะมีการปรับราคาขึ้นหรือลงล่วงหน้า ดังนั้นจึงต้องประเมินสถานการณ์กันวันต่อวัน
สำหรับความคืบหน้าการหาเงินมาเสริมสภาพคล่องของกองทุน เพื่ออุดหนุนราคาพลังงานนั้น ขณะนี้แนวทางต่างๆ อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งในส่วนของการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินนั้น ได้มีการหารือถึงข้อห่วงใยต่างๆ จนสามารถบรรลุข้อตกลงทุกอย่างได้ลงตัวหมดแล้ว โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ หรือประมาณกลางเดือนก.ค.
กองทุนน้ำมันฯยังยืนยันขอกู้ที่วงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพราะกองทุนน้ำมันฯยังมีเงินที่ฝากไว้กับกระทรวงการคลังและธนาคารกว่า 3,300 ล้านบาท และเงินที่ต้องชำระผู้ค้ามาตรา 7 หมุนเวียนใช้อีกวันละประมาณ 79.50 ล้านบาท โดยที่กองทุนน้ำมันฯไม่ได้มีการผิดนัด หรือค้างชำระแต่อย่างใด
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการนำกำไรส่วนเกินของโรงกลั่นมาเสริมสภาพคล่องกองทุนนั้น สำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) อยู่ระหว่างดำเนินการเจรจา โดยยังต้องติดตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน อัตราเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจโลก
ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดูแลราคาพลังงานในประเทศ ซึ่งนายสุพัฒน์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานทำหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้