กลุ่ม ปตท.ชี้ทางรอดธุรกิจ สู่ Tech Company

29 มิ.ย. 2565 | 09:10 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2565 | 16:19 น.

ปตท.เร่งเดินหน้ารับเทรนด์โลก ลุยธุรกิจสีเขียวและยานยนต์ไฟฟ้า หลังได้รับแรงกดดันลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับพอร์ตพลังงานหมุนเวียนเป็น 12,000 เมกะวัตต์ ทุ่มสร้างโรงงานผลิตอีวี 3.6 หมื่นล้าน เสริมด้วยธุรกิจใหม่ วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต อัดเงินลงทุนแล้วกว่า 1.3 หมื่นล้าน

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมงานสัมมนา”ส่องหุ้นไทย 2022 : ขับเคลื่อนธุรกิจรับอนาคต” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ” พลิกเกมสู่ Tech Company รับโลกยุคใหม่” ว่า จากปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ยังมีความผันผวนค่อนข้างสูง อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้น แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนอยู่ ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น

กลุ่ม ปตท.ชี้ทางรอดธุรกิจ สู่ Tech Company

 

การที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปได้ จำเป็นต้องมองถึงกระแสของโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีหรือดำเนินธุรกิจสู่ Tech Company

วันนี้ประทศไทยกำลังขับเคลื่อนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะมาช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม และ7 อุตสาหกรรมใหม่หรือ เป็น New S-curve ประกอบแรงกดดันในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดําเนินธุรกิจ ที่มีเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2065 

 

ส่งผลให้กลุ่มปตท.ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้เร็วขึ้น จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์การดำเนินงานใหม่เป็น “Powering life with Future energy and Beyond” หรือ “ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังงานแห่งอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน” เพื่อให้สอดรับเทรนด์พลังงานโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ “Go Green” และ “Go Electric” มากขึ้น โดยเน้นไปที่ธุรกิจพลังงานในอนาคตและธุรกิจใหม่ ที่จะเป็นพลังงานสะอาด และธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คน

 

ทั้งนี้ การพัฒนาพลังงานในอนาคต (Future Energy) นั้นกลุ่มปตท.ได้ปรับพอร์ตเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก 8,000 เมกะวัตต์เป็น 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 โดยมี บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เป็นหัวหอกในการลงทุน รวมไปถึงการศึกษาพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น ไฮโดรเจน ที่ปัจจุบันมีการเริ่มศึกษา และจะนำมาใช้เป็นพลังงานในอนาคตแล้ว

พร้อมรองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ร่วมมือกับ Foxconn จากไต้หวัน จัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย ล่าสุดทางบีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด มูลค่า 36,100 ล้านบาท โดย HORIZON PLUS มีเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) ออกสู่ตลาดภายในปี 2567 มีกำลังการผลิตที่ 50,000 คัน/ปี ในระยะแรก และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คัน/ปี ภายในปี 2573 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายเป็นผู้นำการผลิตรถไฟฟ้าในระดับอาเซียนด้วย

 

รวมถึงการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับ EV ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน PTT Station การดำเนินธุรกิจ EV Service Platform ชื่อ “EVme” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการเช่ารถ EV หลากหลายแบรนด์

 

พร้อมก้าวสู่นวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยเทคโนโลยี Semi Solid เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ Semi Solid ใช้เทคโนโลยี 24M แห่งแรกในอาเซียน ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี และจะขยายเป็น 10 GWh (กิกะวัตต์) ต่อปีภายใน 10 ปีข้างหน้า

 

นายบุรณิน กล่าวอีกว่า ขณะที่ธุรกิจใหม่ กลุ่มปตท.เดินหน้าในการรุกธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจยา อาหารเสริม (Nutrition) และอุปกรณ์การแพทย์ ดึงความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ จับมือพันธมิตรทั้งในไทยและต่างชาติมากันดำเนินงาน โดยมีบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อน เน้นไปที่  4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจยารักษาโรคไม่ติดต่อ (NCD) เช่น โรคมะเร็ง ที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกส่วนในร่างกาย ธุรกิจอาหารและโภชนาการ หรือ อาหารที่เป็นยาได้ และอาหารที่สร้างความแข็งแกร่งของร่างการ อาหารลดการเกิดโรค ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ (Medical device) ต่อยอดวัสดุปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท. และธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical technology) หรือ การวินิจฉัยโรค ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ได้ลงทุนในธุรกิจนี้ไปราว 1.3 หมื่นล้านบาทแล้ว

 

อีกทั้ง ธุรกิจ Logistic & Infrastructure เป็นธุรกิจที่ ปตท.ได้ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือมาบตาพุด เฟส 3 และโครงการท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ล่าสุด ปตท.ยังศึกษาที่จะเข้าไปร่วมลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ด้วย

 

นอกจากนี้ ได้มุ่งสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น รองรับกระแสรักษ์โลก ธุรกิจ Mobility & Lifestyle รองรับการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป และธุรกิจ AI Robotics Digitalization ที่ทาง ปตท.สผ.ได้ตั้งบริษัทย่อย คือบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) เพื่อพัฒนาด้าน AI และหุ่นยนต์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่จะมีส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยโตไปอีกขั้น โดย ปตท.ตั้งเป้าหมายว่าจะมีกำไรจากธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่มากกว่า 30% ในปี 2573