จับตาครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยอ่วม เงินเฟ้อพุ่งทำสถิติทั่วโลก

01 ก.ค. 2565 | 05:35 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2565 | 12:52 น.

จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังอ่วม เจอสารพัดปัจจัยเสี่ยงเข้ามาถาโถม โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงทำสถิตินิวไฮทั่วโลก ลุ้นรัฐบาลหาทางแก้ หลังนายกฯ นัดถกหน่วยงานความมั่นคง-เศรษฐกิจ ประเมินสถานการณ์ หามาตรการดูแล รับมือวิกฤต

หลายประเทศทั่วโลกกำลังตกอยู่ภายใต้มรสุม "เงินเฟ้อ" ที่พุ่งขึ้นสูง สาเหตุหลักจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ซื้อขายเมื่อ 30 มิถุนายน 2565 เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 105.76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ไม่ต่างกับราคาน้ำมันเบรนต์ ซึ่งอยู่ที่ 114.81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งทะยานทั่วทุกประเทศ

 

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้น ไม่นานมานี้ “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ระบุว่า ช่วงนี้เงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 กว่าปี โดยอังกฤษเงินเฟ้ออยู่ที่ 9.1% สหรัฐ 8.6% และเยอรมัน 7.9%

 

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ต้องออกมาประกาศสงครามกับเงินเฟ้อ โดยระบุว่า ยังไงก็ต้องเอาเงินเฟ้อกลับลงระดับปกติให้ได้ แม้เรื่องนี้จะหมายถึง เศรษฐกิจที่อาจชะลอลง และภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession

 

ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ ระบุว่า ประเทศที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงสุดขณะนี้ คือมีเงินเฟ้อตั้งแต่ประมาณ 30% ขึ้นไป เช่น เลบานอน 211% เวเนซูเอล่า 167% ตุรกี 73.5% อาร์เจนตินา 60.7% อิหร่าน 39.3% ศรีลังกา 39.1% และเอธิโอเปีย 37.7%

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ข้อมูลจาก Trading Economic, Kobsak Pootrakool

 

โดยประเทศที่เงินเฟ้อสูงขนาดนี้ คนลำบากก็คือ ประชาชนที่ต้องรับภาระราคาสินค้าที่เพิ่มสูงตลอดเวลา ต่อให้เศรษฐกิจยังโต แต่เงินได้ของทุกคนก็จะถูกกัดกร่อนจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น เงินเดือนที่มี พอถึงปลายปี จะซื้อของได้ลดลง กรณีเลบานอน จะซื้อของได้ไม่ถึงครึ่งของที่เคยซื้อได้ในช่วงต้นปี นี่คือ ฝันร้ายที่เหล่าธนาคารกลางไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันหลายประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจของเอเชียก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน อย่างเกาหลีใต้ ข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2565 เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 5.4% ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 14 ปี เช่นเดียวกับสิงคโปร์ อัตราเงินเฟ้อแตะ 5.6% เพิ่มจากเดือนก่อน 5.4% ขณะที่ญี่ปุ่นเองเงินเฟ้อยังอยู่ที่ในระดับเกิน 2% ล่าสุดเดือนพ.ค. อยู่ที่ 2.5%

 

สำหรับประเทศไทยเองนั้น ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า ขยายตัว 7.10% สูงสุดในรอบ 14 ปี นับจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งอยู่เคยขึ้นไปแตะ 9.20%

 

โดยเป็นผลมาจากราคาพลังงาน สูงขึ้นถึง 37.24% ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพภาครัฐ สิ้นสุดแล้วหลายโครงการ ทั้งช่วยเหลือค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 45.43% และก๊าซหุงต้มสูงขึ้น 8% 

 

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุสาเหตุของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปัจจุบัน ปรับตัวเร่งขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ตามการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาในหมวดอาหาร และผลของฐานค่าน้ำประปาที่ต่ำในปีก่อนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

 

ทางฝั่ง สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยอมรับถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ต้องจับตา ส่วนใหญ่มาจากราคาพลังงานส่งผลกระทบกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งภาครัฐต้องเข้าไปช่วยผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยลดค่าครองชีพ โดยการประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปี 2565 สศช.คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 4.2-5.2% 

 

การประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2565 -v

ด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แระเมินเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี

 

เช่นเดียวกับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

อัตราเงินเฟ้อแต่ละประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2565

 

ขณะที่ “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินข้อมูลเศรษฐกิจออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยมองอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3 น่าจะอยู่ในระดับสูงสุดของปี และมีโอกาสแตะระดับ 10% ได้ จากราคาน้ำมันที่ยังสูง ราคาอาหารสด และที่สำคัญ น่าจะเริ่มเห็นเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ หลังกำลังซื้อฟื้นตัวจากไตรมาส 2 รับการเปิดเมืองและจากฐานที่ต่ำในปีก่อน

ส่วนเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2565 ต้องรับมือกับความท้าทายหลักๆ ได้แก่ 

  1. เงินเฟ้อพุ่งทะลุ 10% กดดันการบริโภค 
  2. เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง 
  3. การเมืองไทยขาดเสถียรภาพ ส่งผลให้นักลงทุนชะลอโครงการใหม่ 
  4. ปัญหาความขัดแย้งในยุโรปรุนแรงขึ้น หนุนราคาน้ำมันพุ่งสูง 
  5. สหรัฐเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็ว แต่เงินเฟ้อยังสูง เฟดจำต้องขึ้นดอกเบี้ยแม้การว่างงานพุ่ง 
  6. จีนต้องล็อกดาวน์อีกรอบหลังมีการระบาดของโควิดในหลายเมือง ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอหนักกระทบการส่งออกของไทย 

 

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ที่น่ากังวลจากปัจจัยเสี่ยงมากมายที่กำลังถาโถมเข้ามากระทบ ล่าสุดมีรายงานข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมนัดสารพัดหน่วยงานทั้งเศรษฐกิจ-ความมั่นคง มาหารือกันในสัปดาห์หน้า ผ่านเวทีของสภาความมั่นคงแห่งชาติ 

 

วาระสำคัญของการประชุมรอบนี้ คือ การประเมินสถานการณ์ พร้อมกำหนดแผนการเตรียมความพร้อมรองรับอนาคต โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งหาทางแก้ไขกันในระยะสั้น คือ เรื่องพลังงานที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของประชาชน ส่วนผลจะออกมาเป็นยังไง ต้องมาคอยติดตามกันอีกที