ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงาน FTI EXPO 2022 : มหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ซึ่งให้ความสำคัญทั้งในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเกี่ยวข้องกับ 4 สาขาสำคัญ คือ สาขาเกษตรและอาหาร สาขาสุขภาพและการแพทย์ สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายในงานพื้นที่ 30,000 ตร.ม. ของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่ อันแน่นด้วยหลากหลายบูธที่น่าสนใจเกี่ยวกับ BCG
เริ่มด้วย สาขาเกษตรและอาหาร ได้ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมอาหารของไทย คือ C.P. Group ผู้นำด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมอาหารนำเสนอนวัตกรรมต่างๆ บนพื้นที่บูธ 135 ตร.ม. ภายใต้คอนเซ็ปท์ CP Bio Circular Green – เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า โดย CPF นำเสนอนวัตกรรม 3 แนวทาง คือ Smart Feed Mill การใช้ AI ในการควบคุมการผลิตอาหารสัตว์ ตั้งแต่กระบวนการรับวัตถุดิบ อบข้าวโพด ป้อนวัตถุดิบ บดวัตถุดิบ ผสม อัดเม็ด ผลิตไอน้ำ และจ่ายอาหาร ทำให้ได้สินค้าตรงกับความต้องการของลูกค้า Smart Farm การนำนวัตกรรมแขนกลมาช่วยการคัดแยกไข่ตั้งแต่โรงฟัก ซึ่งสามารถคัดแยกไข่แตกร้าวได้
นอกจากนี้ ยังสามารถดูสุขภาพของไก่โดยไม่ต้องเข้าไปในฟาร์ม ทั้งการชั่งวัดน้ำหนักไก่ การฟีดอาหาร การปรับอุณหภูมิภายในฟาร์มไก่ ฯลฯ Smart Factory การสร้างอาคารสีเขียว โดยนำตัวอย่างการทำโรงงานแปรรูปสุกรมาจำลองให้เห็นรูปแบบของอาคารสีเขียว ทั้งการประหยัดน้ำ การรีไซเคิลน้ำ การทำให้เครื่องปรับอากาศไม่ปล่อยสารทำลายโอโซน ฯลฯ และเข้าสู่ปลายน้ำด้วยการนำนวัตกรรม Plant-based Food ภายใต้แบรนด์ MeatZero ที่มีครบทั้งของกินเล่นและอาหารสำเร็จรูปมานำเสนอ
ในบูธยังได้บริษัท ทรู มาโชว์นวัตกรรม 5G Smart Farm Automation Solution ด้วยการนำนวัตกรรมเกษตรเครื่องกลับแกลบ เนื่องจากมูลไก่ทำให้เกิดความชื้นและทำให้แกลบแข็ง ส่งผลต่อคุณภาพของไก่ เช่น ทำให้อุ้มเท้าไก่เป็นแผล หรือหากไก่นั่งอยู่บนพื้นที่แข็งนาน จะทำให้เป็นแผลกดทับ ที่ผ่านมาจะใช้กำลังคนในกลับแกลบ แต่ปัจจุบันได้นำเครื่องกลับแกลบมาใช้เพื่อลดความชื้นในแกลบ และยังเป็นการลดความก๊าซในโรงเรือนด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของเซเว่นอีเลฟเวน ได้นำแบบจำลองร้านเซเว่นประหยัดพลังงานมาให้ชม พร้อมกับรถไฟฟ้าสำหรับส่งสินค้าเพื่อลดโลกร้อน
ด้านสาขาสุขภาพและการแพทย์ นำเสนอภายใต้คอนเซ็ปท์ Smart Living Solutions และอุปกรณ์อัจฉริยะที่ผลิตในประเทศไทย อาทิ ห้องความดันลบแบบประกอบเคลื่อนย้ายได้ (Modular Unit) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกแบบโดยสถาบันแสงซินโครตรอน
จากสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้ความต้องการห้องความดันลบเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ส.อ.ท. ภายใต้มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมได้ผลิตห้องความดันลบเพื่อมอบให้แก่สถานพยาบาลในเครือกระทรวง อว. และสถานพยาบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งาน จากห้องราคาหลักล้านบาทหากนำเข้า สู่การผลิตเองในไทยราคาหลักแสนต้นๆ
ภายในห้องจะมีกล่องสีส้มที่เป็นเทเลเมดิซีน เพื่อให้บริการทางการแพทย์ในระยะไกลโดยที่ผู้ป่วยและแพทย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีตู้เก็บวัคซีนพร้อมอุปกรณ์ Monitoring ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของผู้ผลิตไทย แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพอย่างมาก
สำหรับ สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ มีการนำนวัตกรรมรถ EV ในกลุ่มรถอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ NexPoint ในการร่วมกันสร้างรถ EV โดยเน้นกลุ่มรถสำหรับอุตสาหกรรม เช่น รถเมล์ รถบัส รถหัวลาก ฯลฯ
ด้าน SCG เจ้าตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ได้นำนวัตกรรมด้านการก่อสร้างที่ช่วยประหยัดพลังงาน 3 นวัตกรรมมาโชว์ ภายใต้แบรนด์ CPAC Green Solutions คือ CPAC LOW-RISE BUILDING SOLUTION นวัตกรรมการก่อสร้างยุคใหม่ที่ผลิตพื้นและพนังจากโรงงาน และนำไปประกอบที่ไซท์งาน ทำให้ลดเวลาการทำงานที่ไซต์งานก่อสร้าง ก่อสร้างได้รวดเร็ว ช่วยลดเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างที่ไซต์งานได้อย่างน้อย 80%
CPAC BIM & CPAC DRONE SOLUTION การใช้โดรนสำรวจบ้านหรืออาคารขนาดใหญ่ เพื่อวางแผนการก่อสร้างและนำเทคโนโลยี BIM เข้าไปออกแบบพื้นที่ทำให้มองเห็นว่างานจะออกมาอย่างไร โดยไม่ต้องลงพื้นที่ไปวัดเองและมีความแม่นยำมากกว่า ทำให้ลด Waste ทั้งเวลา แรงงาน และเศษวัสดุหน้างานได้ 5-15% อีกทั้งลดความผิดพลาดในงานก่อสร้าง และ
CPAC ULTRACRETE SOLUTION นวัตกรรมออกแบบก่อสร้างเพื่อทดแทนการใช้เหล็ก ซึ่งปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นและลดการใช้เสาหรือตอหม้อ เหมาะสำหรับการสร้างสะพานหรือการสร้างสถานีรถไฟฟ้า สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากใช้คอนกรีตสูตร Low Carbon หรือคอนกรีตคาร์บอนต่ำ ใช้วัสดุในการก่อสร้างน้อยลงเพราะลดในเรื่องปริมาณของเสาหรือตอหม้อ ลดการใช้พลังงานในการก่อสร้างและขนส่ง
สุดท้าย สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อีกหนึ่งสาขาสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยบูธสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยให้อุตสาหกรรมไมซ์ (การประชุมองค์กร, การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการประชุมวิชาชีพ) เติบโตได้มากขึ้น ด้วยช่องทาง Thai Mice Connect E-Marketplace ของธุรกิจไมซ์ที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย ซึ่งได้รวบรวมฐานข้อมูลสมาชิกทั้งผู้ใช้และผู้จัดการไว้หนึ่งเดียว พร้อมแอพลิเคชั่น BizConnect ที่รวบรวมข่าวสารการจัดงานไว้ในทีเดียวกันทำให้เข้าถึงงานได้ง่ายขึ้น
นอกจากบูธของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่พาเหรดนำนวัตกรรมมาโชว์แล้ว ทาง ส.อ.ท. เองก็นำนวัตกรรมในด้านต่างๆ มาจัดแสดงภายใต้ธีมการหมุนเวียนของวัสดุ โดยตัวโครงของบูธจะใช้เหล็กที่มีลักษณะเป็น Modula cube ทำให้มีความยืดหยุ่นในการปรับโครงสร้างและลดการเกิด waste หลังจากจัดแสดง เพราะสามารถนำไปใช้งานต่อได้
พร้อมโชว์นวัตกรรมการปลูกพืชอัจฉริยะที่ใช้การควบคุมน้ำและแสงโดย AI และแบบบ้านจำลองที่แสดงสินค้า BCG อย่าง เสื้อผ้ารีไซเคิลจากขวดพลาสติก โชฟาที่เบาะหุ้มผลิตจากขวดพลาสติกและภายในใช้โครงไม้จากป่าปลูกทำให้ไม่ทำลายธรรมชาติ เครื่องสำอางจากชานอ้อย รองเท้าผลิตจากเศษยางของโรงงาน เก้าอี้อลูมิเนียมที่เอาเศษอลูมิเนียมมารีไซเคิล เก้าอี้จากกล่องเครื่องดื่ม ฯลฯ
นวัตกรรม BCG เหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้คนไทยได้รู้จักและเข้าใจว่าสินค้ารอบๆ ตัวเราสามารถผลิตตามแนวทางทาง BCG ได้และจำเป็นอย่างยิ่งในวันที่โลกกำลังเรียกร้องให้เราใส่ใจโลกมากขึ้น
มหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย FTI Expo 2022 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ครั้งนี้ ยังถือเป็นการรีสตาร์ทประเทศไทย และปลุกจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือ ให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดเงานอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อ 29 มิถุนายน 2565 ที่ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จ.เชียงใหม่ โดยงานนี้จะมีถึงวันที่ 3 ก.ค.2565