นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร โครงการเชื่อมสวนสาธารณะเบญจกิติ กับ สวนลุมพินี ว่า ได้รับทราบผลการดำเนินงานการออกแบบจุดเชื่อมพื้นที่สวนสาธารณะ เบญจกิติ กับ สวนลุมพินี บริเวณทางเดินลอยฟ้า ถนนสุขุมวิทซอย 4 ถนนสุขุมวิทซอย 10 และจุดเชื่อมสวนลุมพินี
พร้อมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการจัดสร้างสวนป่า เบญจกิติ ระยะที่ 2-3 เนื้อที่ประมาณ 259 ไร่ โดยบางส่วนได้ส่งมอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล และสวนบางส่วนได้ปรับปรุงให้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ และอาคารกีฬา เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน
โดยที่ประชุมรับทราบรูปแบบโครงการเชื่อมสวนสาธารณะ เบญจกิติ กับสวนลุมพินี โดยแผนงาน งบประมาณในการดำเนินโครงการ ให้ปรับแผนงานโครงการให้เหมาะสมสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำขอให้มีการดูแลรักษาสวนธารณะให้มีสภาพที่สวยงามอยู่เสมอ เพื่อรองรับการเข้าใช้ประโยชน์ของประชาชนทุกคนต่อไป
สำหรับในส่วนของการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 (พื้นที่ก่อสร้างที่ 1) ตามข้อเสนอแนะนายกรัฐมนตรีนั้น มีความก้าวหน้า ดังนี้
ทั้งนี้ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด และได้ให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงสวนสาธารณะ และการเชื่อมสวนสาธารณะ เบญจกิติ กับสวนลุมพินี โดยคำนึงถึงความหลากหลายในการใช้ประโยชน์พื้นที่สวนป่า
พร้อมเสนอแนะให้มีการปรับแต่งภูมิทัศน์เพิ่มเติมให้สวยงาม อาทิ การปลูกบัวฉลองขวัญ การปลูกพันธุ์ไม้และต้นไม้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น การปลูกไม้ไม่ผลัดใบแซมกับต้นไม้อื่น ๆ เพื่อให้สวนสาธารณะยังเป็นพื้นที่สีเขียวสวยงามอยู่เสมอ และปลูกพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารสำหรับนกต่าง ๆ ได้ด้วย
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมพื้นที่จอดรถให้เพียงพอสำหรับประชาชน การจัดระเบียบร้านค้าต่าง ๆ ภายในสวนสาธารณะให้เป็นระเบียบสวยงาม สะอาด ไว้รองรับประชาชนทุกลุ่ม การจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับสุนัข โดยย้ำให้พิจารณาในส่วนที่สามารถทำได้ก็ให้ทยอยดำเนินการไปก่อน
รวมไปถึงการเร่งปรับปรุงภูมิทัศน์สวนเบญจกิติด้านฝั่งอาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้สวยงาม โดยเฉพาะการปรับปรุงพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างสวนสาธารณะ เบญจกิติ กับอาคารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จำนวน 2 จุด คือ บริเวณที่ 2 ลานวงกลมสวนน้ำ และบริเวณที่ 1 เชื่อมสวนป่า เพื่อให้แล้วเสร็จได้ทันรองรับการประชุมเอเปคที่จะเกิดขึ้นภายในปลายปี 2565 นี้