นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”กรณีเศรษฐกิจสหรัฐจ่อเข้าสู่ภาวะถดถอยเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%
ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติ เอกฉันท์10-1ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.5%-1.75% ตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี เพื่อชะลอการปรับขึ้นของเงินเฟ้อที่คาดว่าจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% ในปี 2566
นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ส่งผลให้สินค้าต่างๆ โดยเฉพาะ สินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่รัสเซียและยูเครนผลิตและส่งออกมากเกิดการขาดตลาดและดันให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่ง ในสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนในประเทศ เงินเฟ้อสหรัฐและเศรษฐกิจถดถอย
ในส่วนของผลกระทบต่อการส่งออกไทยนั้น แน่นอนว่ากระทบต่อการส่งออกไทยไปตลาดสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าหลายกลุ่มได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ส่งผ่านราคาพลังงาน ต้นทุนสินค้า หรือการขาดแคลนสินค้าบางชนิด แต่ที่เห็นได้ชัด คือ กลุ่มสินค้าคงทน อาจมียอดขายลดลงจากกำลังซื้อทั่วโลกที่ลดลง อย่างรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆเป็นต้น
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่มีเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญก็ได้รับผลกระทบ
เช่นเดียวกับสินค้าเกษตร เนื่องจากราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรลดปริมาณการใช้ปุ๋ยหรือชะลอลง ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตของเกษตรกร เนื่องจากสินค้าราคาแพงขึ้น ทำให้กำลังซึ้อของผู้บริโภคลดลง การลงทุนลดลง จากต้นทุนสูงขึ้น ความสามารถในการทำกำไรลดลง ซึ่งประเทศที่นำเข้าสูงมีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้นรวมถึงรายได้ที่แท้จริงลดลง กระทบกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน
กลุ่มสินค้าที่ได้ผลประโยชน์ยังคงเป็นกลุ่มอาหาร อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป เพราะยังเป็นสินค้าที่สำคัญเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะค้าพร้อมรับประทานหรือ ready-to-eat จะกลับมาเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะคนต้องประหยัดพลังงาน หลายประเทศยังคงนำเข้าอาหารอย่างต่อเนื่อง ไทยเองก็มีความมั่นคงทางอาหารหรือกลุ่มทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
“ในไตรมาส3 มีโอกาสได้เห็นผลกระทบที่ชัดขึ้นแง่ของการส่งออกไปตลาดสหรัฐ แม้ว่า 5 เดือนไทยส่งออกไปสหรัฐยังขยายตัวเป็นบวกเพราะกำลังซื้อในช่วงที่โควิดคลี่คลายและมีการเปิดประเทศแต่หลังจากนี้ผลกระทบจากสงครามรัสเซียจะชัดเจนขึ้น และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่สูงทำให้ความสามารถในการซื้อลดลง แต่ไตรมาสที่เหลือยังมั่นใจส่งออกไทยไปสหรัฐยังขยายตัวเป็นบวก เพียงแต่จะชะลอตัวลง ทั้งปีน่าจะยังขยายตัวที่ตัวเลข 2 หลัก”
อย่าวไรก็ตามไทยเองควรปรับตัว โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น อาจจะต้องปรับขึ้นราคา เพื่อเฉลี่ยราคาขายในประเทศ ลดค่าใช้จ่ายในการวางสินค้าช่องทางจำหน่ายสินค้า การจัดหาปุ๋ยในราคาที่ไม่สูงเกินไป และพิจารณาดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ผลิตอาหาร สนับสนุนการใช้ solar rooftop เป็นพลังงานทดแทนและการใช้ Big Data เพื่อประเมินผลผลิต และวางแผนการนeเข้าส่งออกได้แม่นยำ ป้องกันขาดแคลนเป็นต้น