สถานการณ์ค่าเงินบาทกำลังอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากปัจจัยรุมเร้าต่างประเทศ โดยค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ อยู่ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม
ล่าสุด นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Kobsak Pootrakool ถึงกรณีค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยระบุว่า ค่าเงินบาทใกล้ทะลุ 36 บาท โดยเมื่อคืนนี้ อ่อนสุดที่ 35.997 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นการอ่อนสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง กลับไปเท่า ๆ กับช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ดำเนินการขึ้นดอกเบี้ยและเริ่มดึงสภาพคล่องกลับ หลังผ่านวิกฤต Subprime
โดยช่วงนั้น ธปท. เคยให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมาถึงประมาณ 35-36.5 บาทต่อดอลลาร์ หากรอบนี้ ค่าเงินบาทอ่อนต่อเนื่องไปทะลุ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี
ทั้งนี้ทดสอบว่า ธปท. จะยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อนได้อีกมากน้อยแค่ไหน โดยเลือกระหว่าง 1.ผลดีที่จะเกิดกับภาคเกษตร ท่องเที่ยว ส่งออก และ 2. ผลกระทบต่อต้นทุนราคาพลังงาน และปัญหาเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วในไทย ซึ่งเมื่อวานนี้ได้ขึ้นไปอยู่ที่ 7.66%
โดยการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ และมาจากการที่นักลงทุนกังวลใจเรื่องภาวะเศรษฐกิจของยุโรป ที่อาจจะเกิดปัญหาหนักหากรัสเซียตัดสินใจ ตัดการส่งก๊าซให้ ซึ่งจะทำให้ยุโรปที่อ่อนแออยู่แล้ว จากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นสูง เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของ ECB ที่ตั้งใจจะขึ้นดอกเบี้ยได้ ทำให้นักลงทุนปรับมุมมองเรื่องค่าเงิน Euro ซึ่งเมื่อคืนนี้ อ่อนลงอย่างรวดเร็วมาที่ 1.0235 ดอลลาร์ต่อยูโร อ่อนสุดในรอบ 19 ปี และพร้อมไปแตะระดับ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 1 ยูโร
อีกด้าน หลังนักลงทุนออกจาก Euro ก็วิ่งไปที่ดอลลาร์ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาที่ 106.792 แข็งค่าสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งนับจากต้นปี ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาประมาณ 12%
สำหรับผู้ส่งออกนำเข้า ช่วงนี้ คงก็ต้องพยายามปิดความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เพราะปีนี้อะไรอะไรก็เกิดได้ หลายอย่างไม่ได้ขึ้นกับ Fundamental หรือปัจจัยพื้นฐาน แต่มาจากการตัดสินใจของคน สมกับที่เป็นปีของความผันผวน หรือ Economic Turbulence 2022