นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดงาน Thai – Saudi Business Matching พร้อมด้วย มร.ครารีม อัลอันซี่ กรรมการหอการค้ามณฑลริยาดและหัวหน้าคณะกรรมการด้านการค้าของหอการค้ามณฑลริยาด นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของการค้าการลงทุนของประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบียที่นักธุรกิจของทั้งสองประเทศได้มีโอกาสพบกันนับตั้งแต่ประเทศไทยเปิดสัมพันธ์ไมตรีอีกครั้งหนึ่งกับซาอุดีอาระเบีย
ซึ่งไทยจะได้สานต่อความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในรูปแบบต่างๆ ทั้งการค้าการลงทุนและด้านอื่นๆ ด้านการค้าถือว่าซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และเป็นประเทศที่มีความสำคัญทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลกมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียปีที่แล้วมีมูลค่ารวมกันถึง234,000ล้านบาท
ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบียปีที่แล้ว 51,000 ล้านบาท ยังขาดดุลซาอุดีอาระเบียอยู่เยอะเพราะไทยนำเข้าพลังงานจากซาอุดีอาระเบียเยอะมาก สำหรับการส่งออก 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบียถึง 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.3%และตั้งเป้าว่าปีนี้ประเทศไทยจะส่งออกไปซาอุดีอาระเบียให้ได้ 56,000 ล้านบาท ให้มากกว่าปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 6% ซึ่งซาอุดีอาระเบียสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียนและประตูการค้าไปสู่เอเชียตะวันออกได้รวมทั้งประเทศไทยก็สามารถใช้ซาอุดีอาระเบียเป็นประตูการค้าไปสู่ตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศ GCC (กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council)
ทั้งนี้นักธุรกิจจากซาอุดีอาระเบียที่เดินทางมาเยือนไทยครั้งนี้มาจากมณฑลริยาดถึง 96 ราย 74 บริษัทว่าประเทศไทยพร้อมต้อนรับนักลงทุนและผู้ค้าจากซาอุดีอาระเบียที่เป็นภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ภาครัฐของซาอุดีอาระเบีย ถ้ามาลงทุนในไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างน้อยจาก FTA ที่ประเทศไทยทำกับประเทศต่างๆ 18 ประเทศ จำนวน 14 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง
รวมทั้งสิทธิประโยชน์จาก FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันนี้ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกคือ RCEP ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership)ซึ่งบังคับใช้แล้วเมื่อต้นปีนี้ และในอนาคตไทยกำลังจะทำ FTA เพิ่มกับบางประเทศ เช่นกลุ่มประเทศ EFTA ที่มีสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ที่ตนไปประกาศนับหนึ่งที่ให้ไอซ์แลนด์ เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้ง FTA กับ UK และกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจเสรีการค้า APECในอนาคต ที่จะพัฒนาไปเป็น FTA และประเทศไทยมีข้อตกลงทางการค้ารูปแบบพิเศษจัดขึ้นที่เรียกว่า Mini FTA ซึ่งทำ Mini FTA กับมณฑลไห่หนานของจีน มณฑลกานซู่ของจีน รัฐเตลังคานของอินเดีย และเมืองโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนที่มาลงทุนในไทยจะได้ประโยชน์ด้วย
“กระทรวงพาณิชย์มีกลไกเรียกว่ากรอ.พาณิชย์(คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์)ซึ่งเป็นเวทีทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนของไทยซึ่งภาคเอกชนมีสมาชิกประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาโลจิสติกส์ทางเรือ และสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งสมาพันธ์เอสเอ็มอี นักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย เมื่อมาลงทุนทำการค้ากับประเทศไทยถ้าติดขัดปัญหาอุปสรรคจะสามารถใช้เวที กรอ.พาณิชย์ ช่วยคลี่คลายปัญหาได้โดยผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย”
อย่างไรก็ตามวันนี้(6กรกฎาคม”ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งสำหรับ 2 ประเทศ ที่นักธุรกิจซาอุดีอาระเบียจะได้มาพบกับนักธุรกิจไทยเจรจาทางการค้าด้วยกันในรูปแบบ Business Matching หวังว่าการเจรจาการค้าระหว่างกันวันนี้จะนำมาซึ่งการเซ็นสัญญาซื้อขายและการทำ MOU ระหว่างกันและปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นกันยายนนี้ตนจะนำคณะนักธุรกิจจากไทยไปเยือนซาอุดีอาระเบียรวมทั้งที่เมืองริยาดด้วยขอต้อนรับนักธุรกิจจากซาอุดีอาระเบียและขอขอบคุณสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ประสานงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จนเกิดงาน Thai – Saudi Business Matching ขึ้น”
ทั้งนี้สถานการณ์การค้าระหว่างไทย – ซาอุดีอาระเบีย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม – พฤษภาคม 2565) ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 18 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยปัจจุบันไทยและซาอุดีอาระเบียมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 122,235 ล้านบาท (+46.56%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบีย 25,698 ล้านบาท (+23.30%) และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากซาอุดีอาระเบีย 96,537 ล้านบาท (+54.31%) ซึ่งไทยเป็นฝ่ายขาดดุลทางการค้า 70,839 ล้านบาท
สินค้าที่ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 3) ผลิตภัณฑ์ยาง 4) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 5) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สินค้าที่ไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) น้ำมันดิบ 2) เคมีภัณฑ์ 3) ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ 4) น้ำมันสำเร็จรูป 5) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์