ในที่สุดศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดี ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -มีนบุรี(สุวินทวงศ์)ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการ(พ.ร.บ.) ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯที่มีคำสั่งยกเลิกการประกวดราคากลางคันส่งผลให้เอกชนผู้ซื้อซองไม่ได้รับความเป็นธรรมและเสียโอกาส
มีการประเมินกันว่า การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบสองอาจล้มลงได้เพราะหากย้อนคำวินิจฉัยของศาลรอบแรกกรณีเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล (ทีโออาร์) กลางคัน โดยให้พิจารณาซองเทคนิค ควบคู่กับซองราคาสัดส่วน 30 และ 70 คะแนน ตามลำดับ แทนการชี้ขาดจากซองราคา
มองว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหลายฝ่ายมีการตั้งข้อสังเกตว่า เกณฑ์ทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบสอง เกณฑ์ทีโออาร์มีความเข้มข้นมากกว่ารอบแรก อย่างไรก็ตาม การชี้ขาดของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ครั้งนี้ รฟม. เจ้าของโครงการมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน หลังจากศาลมีคำพิพากษาได้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ในกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS) เปิดเผยภายหลังรับฟังศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ระหว่าง
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ที่ยกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มีคำสั่งและออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564
“ศาลให้ความยุติธรรมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนี้ก็เหลือคดีทางอาญาที่ศาลมีคำสั่งนัดในวันที่ 27 กันยายนนี้ โดยการตัดสินครั้งนี้เราก็ดีใจ เพราะถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างบรรทัดฐานในการประมูล”
นอกจากนี้ตามขั้นตอนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาได้ภายใน 30 วัน ขณะที่การประกวดราคารอบใหม่ ปัจจุบันบีทีเอสก็เข้าร่วมซื้อซองเอกสาร แต่ยอมรับว่าหลักเกณฑ์การคัดเลือกด้านคุณสมบัติในการประมูลรอบใหม่นั้น แตกต่างจากเกณฑ์รอบแรกอย่างมาก
"ขณะนี้ทราบว่าหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนรอบใหม่ของรฟม.มีการใช้หลักเกณฑ์ด้านราคาตามเดิม แต่มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ด้านเทคนิค คือคุณสมบัติผู้ก่อสร้างงานโยธา จากเดิมพันธมิตรร่วมทุนของเราคือบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เพราะมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเข้าร่วมประมูลได้ แต่กลับพบว่าการประมูลรอบหนี้ทางบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC มีคุณสมบัติไม่ครบตามหลักเกณฑ์การประมูลสายสีส้มที่กำหนด ซึ่งน่าแปลกใจ ทำให้บริษัทต้องหาพันธมิตรรายอื่นมาร่วมด้วย"
ดังนั้นจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในวันนี้ ที่ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจจะต้องรอดูว่า รฟม.จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้อย่างไร และใช้หลักเกณฑ์ใด
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางวันนี้ ชี้ให้เห็นว่าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในการประมูลครั้งแรกนั้นยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ เพราะคำสั่งยกเลิกประมูลไม่เป็นผล ซึ่งโดยปกติแล้วโครงการเดียวก็ต้องมีการประมูลในครั้งเดียว และใช้หลักเกณฑ์เดียว ดังนั้นการออกประมูลรอบใหม่
ที่ รฟม.กำลังจะเปิดรับซองเอกสารจากเอกชนในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ จะดำเนินการอย่างไร คงต้องรอดูการพิจารณาจาก รฟม.อีกครั้ง เพราะถือว่าปัจจุบันการประมูลครั้งแรกยังไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าจะมีการคืนซองข้อเสนอของเอกชนไปบ้างแล้ว แต่ศาลฯ ก็ชี้ว่าการประมูลรอบใหม่ก็ยกเลิกได้
นอกจากนี้ช่วงที่ผ่านมาพบว่าหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มกำหนดให้ผู้ก่อสร้างงานโยธามีประสบการณ์การเดินรถในไทยเท่านั้น และประสบการณ์การก่อสร้างในต่างประเทศได้ แต่หลักเกณฑ์ครั้งนี้กำหนดให้มีประสบการณ์เดินรถในต่างประเทศได้และมีผลงานการก่อสร้างเฉพาะในไทยเท่านั้น
ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ค่อนข้างจำกัด ทางบริษัทได้ให้ความเห็นเรื่องนี้กับทางรฟม.ในช่วงที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนแล้ว ขึ้นอยู่รฟม.เป็นผู้พิจารณาด้วย โดยปัจจุบันบริษัทมีคดีทั้งหมด 1 คดี คือ คดีการแก้ไขหลักเกณฑ์และยกเลิกการประมูลของรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) โดยใช้หลักเกณฑ์ด้านพิจารณาด้านราคาควบด้านเทคนิคเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยการปรับปรุงวิธีการประเมินในครั้งนี้ คำนึงถึงสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ
ที่จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด มาเป็นวิธีประเมินคะแนนด้านเทคนิคควบคู่ด้านผลตอบแทนและการลงทุนด้วยเหตุและผล