ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุม มอบแนวทางการบริหารงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และลงพื้นที่ตรวจราชการ ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายจำรึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น หัวหน้าส่วนราชการทั้ง 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วม ณ สำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ว่า
การลงพื้นที่ในวันนี้ (9 ก.ค. 65) มุ่งหวังให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าใจแนวทางการดำเนินงานและพัฒนาการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานเกิดการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง เป็นโอกาสดีที่ภาคเกษตรไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ และภาคการเกษตรถือเป็นหัวใจสําคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก
ดังนั้น นโยบาย “Agri challenge Next Normal 2022” ของกระทรวงเกษตรฯ จึงเป็นนโยบายที่มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบายกระทรวง ให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร โดยการวางรากฐานการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการดำเนินงานต้องดำเนินงานในเชิงบูรณาการภายใต้แนวคิด “เชื่อมโยงการบริหาร แปลงสารให้ชัด จัดสรรให้ถูก” ซึ่งหมายถึงการเชื่อมโยง ยุทธศาสตร์กับพันธกิจของกระทรวง การสร้างการสื่อสารนโยบายไปยังผู้ปฏิบัติ และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับภารกิจ ซึ่งจะดำเนินการขับเคลื่อนงานใน 3 ด้าน
ประกอบด้วย 1.ภารกิจเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย 2. ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร 3.วางรากฐานการทำงานของกระทรวง โดยตั้งเป้าหมายครอบคลุม 4 ด้านในปี 2565 คือ 1.ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) สาขาเกษตร เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.8 2. ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.2 3. เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และ 4.พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 350,000 ไร่ รวมทั้งเตรียมการผลักดันเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ทองเปลว กล่าวอีกว่า การพัฒนากำลังคนภาคเกษตร พัฒนากระบวนการทำงาน ผลักดันวิจัยและนวัตกรรมเกษตร และยกระดับความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาภาคเกษตรจากทุกภาคส่วน มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะด้านนโยบายความยั่งยืนในระบบอาหารสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ
โดยหัวใจสำคัญในการผลักดันความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน และลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการดิน การบริหารจัดการพันธุ์พืช BCG Model ตลอดจนการทำเกษตรโดยใช้ตลาดนำการผลิต
ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งผลให้การขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสามารถพัฒนาภาคเกษตรให้มีความยั่งยืนตามแนวทาง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ต่อไป