อลงกรณ์ เชื่อมั่น “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน” มิติใหม่ภาคเกษตรไทยสู่มูลค่าสูง

09 ก.ค. 2565 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2565 | 15:14 น.

“อลงกรณ์” เชื่อมั่น“12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน” คือคานงัดปฏิรูปสร้างจุดเปลี่ยนนำไทยสู่เกษตรมูลค่าสูงตอบโจทย์ Next Normal

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย(9 ก.ค. 65) เรื่อง “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน มิติใหม่การปฏิรูปภาคเกษตรของไทย” โดยเชื่อมั่นว่าจะเป็นคานงัดการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและกระทรวงเกษตรฯยุค “รัฐมนตรีเฉลิมชัย”เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนในมิติต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ

 

นายอลงกรณ์ ระบุว่า  ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้เศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ชะลอตัว ราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ยและอาหารสัตว์แพงขึ้น กระทบต่อราคาและระบบผลิตอาหารทั่วโลก เกิดภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น  นับเป็นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ที่ยาวนานมากว่า 2 ปีที่ยังไม่มีใครคาดเดาว่าจบลงเมื่อใด  แต่ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ

 

อลงกรณ์ เชื่อมั่น “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน” มิติใหม่ภาคเกษตรไทยสู่มูลค่าสูง

 

 

โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) วิเคราะห์ว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร และนี่คือโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลกที่จะปฏิรูปตัวเองสร้างความเข้มแข้งและขีดความสามารถใหม่ของประเทศไทย

 

ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ จะเล่าเรื่อง “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน มิติใหม่ภาคเกษตรของไทย”เป็นแพลตฟอร์มการปฏิรูปสร้างจุดเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและระบบเพื่อตอบโจทย์โอกาสของวันนี้และอนาคตที่กำลังจะมาถึง

 

ก้าวที่ 1 : ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม

ทางกระทรวงฯได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(Agritech and Innovation Center : AIC) หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า ศูนย์ AIC 77 จังหวัดเป็นฐานการพัฒนาเชิงพื้นที่(Area based Development) ของเทคโนโลยีในทุกจังหวัดและจัดตั้งศูนย์ AIC ประเภทศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้าน(Center of Excellence:COE) อีก 23 ศูนย์ โดยศูนย์ AIC ทำหน้าที่เป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนา (R&D) และเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาและเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกรผู้ประกอบการและถ่ายทอดนวัตกรรมเน้นเมด อิน ไทยแลนด์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง โดยคิกออฟพร้อมกันทุกศูนย์ทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อ1 มิถุนายน 2563 วันนี้เรามีเทคโนโลยีเกษตร 766 นวัตกรรมที่ถ่ายทอดต่อยอดสู่แปลงนาแปลงสวนแปลงไร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 10,000 รายแล้ว

 

อลงกรณ์ เชื่อมั่น “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน” มิติใหม่ภาคเกษตรไทยสู่มูลค่าสูง

 

ก้าวที่ 2 ระบบบิ๊กดาต้าเกษตร

ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(National Agriculture Big Data Center:NABC) ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิตอลใหม่ ๆ ตั้งอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เริ่มดำเนินการตั้งแต่มีนาคม 2563 ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีข้อมูล(Information Technology) คือ เครื่องมือเอนกประสงค์ของทุกภารกิจและทุกหน่วยงานโดยกำลังเชื่อมต่อกับ Big Data ของหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันเกษตรกรและศูนย์AICทุกจังหวัดโดยจะให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลเกษตรในมิติต่าง ๆ บนมือถือและคอมพิวเตอร์

 

ก้าวที่ 3 :  ดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น

กำลังปฏิรูป 22หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯให้เป็นกระทรวงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี (TechMinistry) ภายใต้โครงการ GovTech อย่างคืบหน้า ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น เพื่อเปลี่ยนการบริหารและการบริการแบบอนาล็อคเป็นดิจิตอล เปลี่ยนการลงนามอนุมัติด้วยมือเป็นลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) และเร่งรัดพัฒนาการโครงการNational Single Window สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ  เป็นการปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ใหม่ในการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ก้าวที่ 4 : เกษตรอัจฉริยะ

ขับเคลื่อนฟาร์มอัจฉริยะ(smart farming)ตามแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ของไทยเช่น ระบบสมาร์ทฟาร์ม ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดดินน้ำอากาศและการอารักขาพืช การพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร การปรับระดับพื้นแปลงเกษตร (Land Leveling) ระบบเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ (Sead Technology) ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ระบบชลประทานอัจฉริยะรวมทั้งการใช้โดรนการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและแพลตฟอร์มเกษตรดิจิตอล(Agrimap platform)

 

โดยมีโครงการเกษตรแม่นยำ(Precision Agriculture) 5 ล้านไร่เป็นโครงการเรือธงโดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC) รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดแบบออนไลน์(Digital Marketing)โดยการสนับสนุนแพลตฟอร์มร้านค้าอีคอมเมิร์ซ และโครงการพัฒนาเกษตรกรเป็นนักการค้าออนไลน์ทุกจังหวัดเช่นโครงการ Local Hero เป็นต้น โดยมีทีมเกษตรอัจฉริยะ ทีมอีคอมเมิร์ซ(E-Commerce) ทีม Big DataและGovTech ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0รับผิดชอบ

 

อลงกรณ์ เชื่อมั่น “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน” มิติใหม่ภาคเกษตรไทยสู่มูลค่าสูง

 

ก้าวที่ 5 : เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง-ชนบท

ริเริ่มโครงการใหม่ ๆ เช่นการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Sustainable Urban Agriculture Development )อย่างเป็นระบบมีโครงสร้างครอบคลุมทั่วประเทศเป็นครั้งแรกตอบโจทย์การขยายตัวของเมือง(Urbanization)ที่ขาดความมั่นคงทางอาหารและระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ(ประชากรไทยในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2562)

 

ตลอดจนการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ PGS แห่งประเทศไทยได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ การพัฒนาสวนยางยั่งยืนรวมทั้งการพัฒนาแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่บนฐานศาสตร์พระราชา 4,009 ตำบล และโครงการข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล ฯลฯ

 

นับเป็นการวางหมุดหมายใหม่ของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ประกอบด้วย เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตรและเกษตรธรรมชาติทั้งในเมืองและในชนบทครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ

 

ก้าวที่ 6 : เกษตรแห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต

ขับเคลื่อนนโยบายอาหารแห่งอนาคต พืชแห่งอนาคต(Future Food Future Crop)เพื่อสร้างเกษตรทางเลือกใหม่แปรรูปเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ เวชสำอาง  เวชกรรม น้ำมันชีวภาพเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ใหม่ ๆให้เกษตรกรของไทย และเป็นสินค้าส่งออกตัวใหม่สร้างรายได้ให้ประเทศ เป็นการตอบโจทย์เทรนด์ของโลกยุค Next Normalที่สนใจสุขภาพมากขึ้นหลังจากเกิดโควิดแพร่ระบาดไปทั่วโลก(Covid Pandemic)ได้แก่ การสนับสนุนโปรตีนทางเลือกจากแมลง (Edible Inseat base Protein)ตามนโยบายฮับแมลงโลก ปัจจุบันมีเกษตรกรกว่า 1 แสนรายทำฟาร์มแมลงเช่น ดักแด้ไหม ดักแด้อีรี่ จิ้งหรีด แมลงวันลาย(bsf) หนอนนก ฯลฯ

 

สอดรับกับนโยบายขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)ที่ ประกาศว่าแมลงกินได้ Edible Insectคืออนาคตใหม่ของโปรตีนโลกและทศวรรษแห่งโภชนาการ  รวมไปถึงโปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant base Protein)เช่น สาหร่าย ผำ เห็ด ถั่วเหลืองถั่วเขียว แหนแดง ฯลฯมีบริษัท startup ใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายบริษัท และการส่งเสริมอาหารฮาลาล ซึ่งมีลูกค้ากลุ่มประชากรมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมกว่า 2 พันล้านคน มูลค่าตลาดกว่า 30 พันล้านบาท

 

อลงกรณ์ เชื่อมั่น “12 ก้าวใหม่ที่กล้าเดิน” มิติใหม่ภาคเกษตรไทยสู่มูลค่าสูง

 

ก้าวที่ 7 :  โลจิสติกส์เกษตร เชื่อมไทย-เชื่อมโลก

ได้วางโรดแม็ปเส้นทางโลจิสติกส์เกษตรเชื่อมไทยเชื่อมโลกในระบบการขนส่งหลายรูปแบบ( Multimodal Transportation) ทั้งทางรถทางรางทางน้ำและทางอากาศ (Low Cost Air Cargo)เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงตลาดทั่วโลกและตลาดเป้าหมายใหม่เช่น โครงการดูไบคอริดอร์-ไทยแลนด์ คอริดอร์ (Dubai Coridor- Thailand Corridor),เส้นทางรถไฟอีต้าอีลู่ (BRI) เชื่อมไทย-ลาว-จีน-เอเชียใต้-เอเชียตะวันออก-เอเชียกลาง-ตะวันออกกลาง-รัสเซียและยุโรป และกำลังเปิดประตูใหม่จากอีสานสู่แปซิฟิกไปทวีปอเมริกาเหนืออเมริกาใต้และเปิดประตูตะวันตกประตูใต้สู่ทะเลอันดามัน-อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดียสู่เอเชียใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป

 

ก้าวที่ 8 : เกษตรแปลงใหญ่ สตาร์ทอัพเกษตร

กำลังปรับเปลี่ยนเกษตรแปลงย่อยเป็นเกษตรแปลงใหญ่(Big Farm)ซึ่งขณะนี้ขยายเพิ่มเป็นกว่า 8,000 แปลงโดยมีการสนับสนุนเครื่องจักรกลเกษตรและระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปีนี้จะเริ่มโปรแกรมอัพเกรดวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่และสถาบันเกษตรเป็นสตาร์ทอัพเกษตร(startupเกษตร) และเอสเอ็มอีเกษตร(SME เกษตร)

 

ก้าวที่ 9 :  ยกระดับเกษตรกรก้าวใหม่

พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เป็น young smart farmer ได้กว่า 20,000 คน และส่งเสริมพัฒนาศูนย์ ศพก.เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอำเภอโดยสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (smart farmer) ปราชญ์เกษตรและอาสาสมัครเกษตร(อกษ.)เป็นทีมงานแนวหน้าทุกหมู่บ้านชุมชนพร้อมกับยกระดับเกษตรกรที่มีประสบการณ์สู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพโดยร่วมมือกับภาคเอกชน ศูนย์AIC สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพซึ่งเป็นองค์การมหาชนในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงพาณิชย์

 

ก้าวที่ 10 :  เกษตรสร้างสรรค์สู่ The Brand Project

กำลังนำระบบทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual property) มาใช้ในการเดินหน้าสู่เกษตรสร้างสรรค์เกษตรมูลค่าสูงด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างแบรนด์ (Branding) ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy )เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเกษตร พืช ประมงและปศุสัตว์เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศภายใต้โครงการ เดอะ แบรนด์ โปรเจ็ค(The Brand Project)

 

ก้าวที่ 11 : การพัฒนาเชิงพื้นที่(Area base)ไม่มีเหลื่อมล้ำ

บริหารการพัฒนาเชิงพื้นที่(Area base)ควบคู่กับการบริหารการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์เช่น โครงการ 1กลุ่มจังหวัด 1นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งหมด 18 กลุ่มจังหวัดครอบคลุม 77 จังหวัดเป็นศูนย์กลางการแปรรูปผลผลิตเกษตรตามศักยภาพของแต่ละกลุ่มจังหวัดเพื่อกระจายโอกาสการพัฒนาทุกภาคทุกจังหวัดไม่ให้เจริญแบบกระจุกตัวเหมือนที่ผ่านมาซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาโดยปลายปี 2564 รัฐมนตรีเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรทุกอำเภอทุกจังหวัดและปีนี้กำลังจัดตั้งคณะทำงานเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,435 ตำบลให้แล้วเสร็จเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนระดับพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

 

“เรายังริเริ่มและเดินหน้าอีกหลายโครงการเช่นการจัดตั้งองค์กรชุมขนประมงท้องถิ่น 2,600 องค์กรใน 50 จังหวัด การดำเนินการโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ตอบโจทย์ Climate Changeโดยเพิ่มต้นไม้ลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งโครงการพัฒนาระบบความเย็น (Cold Chain) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และระบบแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวแบบ Nitrogen Freezer เป็นต้น”

 

ก้าวที่ 12 : เปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน (Partnership platform)

ความก้าวหน้าของงานแต่ละด้านเกิดจากการบริหารแบบเปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน(Partnership platform)ในการทำงานกับทุกภาคีภาคส่วนเช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมต่างๆ สถาบันอาหาร มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย สถาบันเกษตรกร

 

สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เครือข่ายองค์กรเอกชน ทุกกระทรวงและทุกพรรคการเมืองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลโดยยึดประโยชน์บ้านเมืองมาก่อนประโยชน์ทางการเมืองได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจนำมาซึ่งความร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจ ประการสำคัญคือการทำงานอย่างทุ่มเทของคนกระทรวงเกษตรฯ

 

  •  ศักยภาพใหม่สู่เกษตรมูลค่าสูง

ทั้งนี้งานหนักและอุปสรรครออยู่ข้างหน้าอีกมาก แต่ด้วยก้าวใหม่ ๆ ตามโรดแม็ปที่วางไว้ เราเดินเข้าใกล้เป้าหมายในทุกก้าวที่กล้าเดินเพื่อปรับรากฐานเดิมสร้างกลไกใหม่สำหรับยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรกรรมของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูงภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ รัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน และการบริหารงานราชการของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯและผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการและบุคลากรทุกคนรวมทั้งทุกภาคีภาคส่วนโดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ที่ร่วมขับเคลื่อน "ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” และการสนับสนุนของรัฐบาล