รอชม Super Full Moon 2565 คืนวันอาสาฬหบูชา พระจันทร์เต็มดวงใกล้โลกในรอบปี

09 ก.ค. 2565 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2565 | 18:08 น.

อัพเดต ซูเปอร์ฟูลมูน Super Full Moon หรือ พระจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2565 เกิดขึ้นในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม นี้ หรือวันพระใหญ่ อาสาฬหบูชา เริ่มเห็นตั้งแต่กี่โมง ที่ไหนบ้าง เช็คเลย

ปรากฏการณ์ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 2565 หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน Super Full Moon หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16%

รอชม Super Full Moon 2565 คืนวันอาสาฬหบูชา พระจันทร์เต็มดวงใกล้โลกในรอบปี

โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) รายงานว่า ในวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชา ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลก 357,256 กิโลเมตร เวลาประมาณ 16:09 น. และจะปรากฏเต็มดวงในคืนดังกล่าวในช่วงหลังเที่ยงคืน เวลา 01:39 น. ของวันที่ 14 กรกฎาคม 2565

 

ในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่ และสว่างกว่าปกติเล็กน้อย หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน Super Full Moon ซึ่งดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.37 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

 

ผู้สนใจสามารถรอชม ซูเปอร์ฟูลมูน Super Full Moon 2565 และเก็บภาพความสวยงามได้ตลอดทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้าดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร

ซูเปอร์ฟูลมูน Super Full Moon 2565 ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ชวนดูดาวชมจันทร์ในคืนวันอาสาฬหบูชา 4 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ (ตั้งแต่เวลา 18:00 - 22:00 น. ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย) 

 

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา
  • หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.สงขลา

 

นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านได้ที่ NARIT