ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รายงานว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้มีบทบาทส่งเสริมการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคก่อสร้าง และธุรกิจอื่น ๆ เส้นทางที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้พาดผ่านมีความหลากหลาย รวมถึงเชื่อมโยงการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ทั้งสายที่เปิดให้บริการแล้ว และที่มีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยนอกจากจะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการสร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ภาคก่อสร้าง อีกทั้ง การพัฒนาพื้นที่จะกระตุ้นให้ตลาดที่อยู่อาศัยตามพื้นที่เส้นทางที่พาดผ่านมีความคึกคักขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก ท่องเที่ยว ยังได้รับอานิสงส์จากผู้เดินทางสัญจรที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันเม็ดเงินจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เข้าสู่ภาคก่อสร้างถึง 8.2 หมื่นล้านบาท ภาคก่อสร้างรับอานิสงส์จากเม็ดเงินส่วนใหญ่กว่า 66% ของมูลค่าโครงการโดยรวม หรือ 8.2 หมื่นล้านบาท เป็นค่างานก่อสร้างและวางระบบราง เม็ดเงินจากการก่อสร้างและระบบรางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะทยอยเข้าสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างไปตามกิจกรรมการก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ตั้งแต่ปี 2022-2027 โดย EIC ประเมินว่า จะมีเม็ดเงินจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้เข้าสู่ธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะในช่วงปี 2024-2026 ราว 60,306 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง จากอัตราความก้าวหน้าของการก่อสร้างที่เร่งตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างอุโมงค์ โครงสร้างยกระดับ และสถานี โดยเริ่มมีงานวางระบบรางบางส่วน
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ยังกระจายเม็ดเงินสู่ผู้รับเหมารายย่อยและผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง 6.4 หมื่นล้านบาท การก่อสร้างไม่เพียงแต่เป็นโอกาสแก่ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เท่านั้น แต่เม็ดเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท ยังกระจายไปถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs รวมถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ได้ส่งต่องานก่อสร้างที่ซับซ้อนไม่มากให้แก่ผู้รับเหมาช่วง (Subcontract) ที่เป็น SMEs รวมถึงผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้างล้วนได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างปริมาณมาก ทั้งปูนซีเมนต์ เหล็ก สายไฟ สายเคเบิล วัสดุด้านสถาปัตยกรรม โดย EIC ประเมินว่า เม็ดเงิน 63,883 ล้านบาท หรือคิดเป็น 78% ของมูลค่างานก่อสร้างและวางระบบราง จะกระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง SMEs รวมถึงผู้ผลิต และผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง
สำหรับความท้าทายที่ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ต้องเผชิญ อย่างไรก็ดี ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจเผชิญความท้าทาย ทั้งต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และแรงงาน รวมถึงความล่าช้าในการก่อสร้าง การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะหนุนให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มี Backlog เพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มประสบการณ์การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยหนุนต่อการเข้าประมูลโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้รับเหมาก่อสร้างอาจเผชิญความท้าทาย ทั้งต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล็ก และปูนซีเมนต์ รวมถึงต้นทุนแรงงานยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่ล่าช้า อาจส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างในภาพรวมของโครงการไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้อีกด้วย