สถานการณ์เด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่น่าตกใจ และจำเป็นต้องเร่งหาทางแก้ไขโดยการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้ เพราะหลายคนที่ออกจากระบบการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะปัญหาจากการแพร่ระบาดโควิด 19 เท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลอื่น ๆ เช่น ความจำเป็นของครอบครัว เพื่อน หรือสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย
โดยช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้สำรวจพบว่า มีเด็กตกหล่นที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน ทำให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานพยายามหาแนวทางช่วยกันทุกวิถีทาง โดยมีการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน”
ผ่านความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พร้อมด้วย 11 พันธมิตรจากหน่วยงานภาครัฐ
โดยได้เริ่มต้นลงพื้นที่ปักหมุดค้นหาเด็กหลุดออกนอกระบบ ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่เริ่มต้นโครงการ มีตัวเลขจำนวนนักเรียน นักศึกษา นักเรียนพิการ และผู้พิการ ที่ตกหล่นและออกกลางคัน เหลือ 121,642 คน
ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มปกติ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวม 67,129 คน พบตัวแล้ว 52,760 คนในจำนวนนี้ แยกเป็น
- เด็กที่กลับเข้าระบบการศึกษา 31,446 คน
- ไม่กลับเข้าระบบ 21,314 คน
ส่วนจำนวนนักเรียน นักศึกษา กลุ่มอื่น ๆ มีดังนี้
- กลุ่มที่อยู่ระหว่างการติดตามอีก 5,628 คน
- กลุ่มที่ติดตามแล้วไม่พบตัว 8,741 คน
- ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มนักเรียนพิการ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สพฐ. และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษา กศน.อายุเกิน 18 ปี ที่เกินวัยการศึกษาภาคบังคับ และมีความต้องการประกอบอาชีพ
กระทรวงศึกษาธิการ แจ้งข้อมูลว่า จากการติดตามลงพื้นที่จริงทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 ถือเป็นเฟสแรกในการดำเนินงานโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ส่งผลให้มีจำนวนเด็กที่หลุดออกนอกระบบลดน้อยลง แต่ก็ยังเหลือจำนวนอีกกว่า 1 หมื่นคน ที่ยังหลุดออกนอกระบบ
สำหรับปัญหาอุปสรรคที่พบมีหลายด้านเช่นกัน ดังนี้
- ปัญหาด้านครอบครัว เนื่องจากนักเรียนที่หลุดระบบการศึกษาส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ครอบครัวหย่าร้าง ต้องช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัว ประกอบกับมีพี่น้องหลายคนอาศัยอยู่กับปู่ย่า ตายาย จึงทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบได้
- ปัญหาด้านการบันทึกข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน เช่น นักเรียนได้ย้ายสถานศึกษาจากโรงเรียนเดิมไปแล้ว ซึ่งโรงเรียนได้ดำเนินการย้ายนักเรียนตามขั้นตอนดำเนินงานที่ถูกต้องแล้ว หรือนักเรียนจบการศึกษาในระดับชั้น ม.3 จากโรงเรียนขยายโอกาสฯ ไปแล้ว แต่ยังมีข้อมูลนักเรียนว่าเป็นนักเรียนออกกลางคัน
- นักเรียนมีอายุเกินเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ โรงเรียนได้จำหน่ายนักเรียนออกจากฐานข้อมูลนักเรียนไปแล้ว แต่ยังมีข้อมูลนักเรียนว่าเป็นนักเรียนออกกลางคัน
- ข้อมูลนักเรียนไม่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ มีหลายฐานข้อมูล ส่งผลกระทบต่อการติดตามในเชิงพื้นที่
- ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนในช่วงโควิด 19 ทำให้เรียนไม่ทัน จึงหยุดเรียน ประกอบกับผู้ปกครองพาเด็กไปทำงานรับจ้าง ส่งผลกระทบต่อการติดตามตัวเด็ก
- ความหลากหลายของชาติพันธุ์นักเรียน เช่น กระเหรี่ยง มูเซอ แม้ว ไทยใหญ่ และประเทศเพื่อนบ้านที่อพยพมาจากพื้นที่ชายขอบ ที่มีวิถีทางขนบธรรมเนียมของแต่ละชนเผ่าที่เน้นให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิต มากกว่าการมุ่งให้ความสำคัญในการศึกษา
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การทำงานในเรื่องนี้เป็นไปตามเป้าหมาย กระทรวงศึกษาธิการ มีข้อเสนอ ดังนี้
- ต้องแนะนำให้นักเรียนเข้าเรียนการศึกษานอกระบบ (กศน.) หรือเรียนสายวิชาชีพ เพื่อจะได้ประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัว และสามารถเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- เร่งพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนในแอปพลิเคชัน Dropout ของ สพฐ. ให้เป็นระบบเดียวกัน เป็นปัจจุบัน และเชื่อมโยงกับข้อมูลของสถานศึกษาทุกสังกัด โดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อป้องกันการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อนของสถานศึกษา หรือการเปลี่ยนชื่อ-สกุลของนักเรียน
- ให้หน่วยงานในระดับจังหวัดและภาคเข้ามาช่วยเรียกดูข้อมูลในภาพรวมของจังหวัดและภาคของตนเองในแอปพลิเคชัน Dropout เพื่อความรวดเร็วในการประสานงานและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยมีการติดตามทุกภาคเรียน เพื่อความชัดเจนของข้อมูล