นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายตนเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ IHR-PVS National Bridging Workshop นั้น กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านสุขภาพสัตว์และระบบงานสัตวแพทย์บริการด้านสาธารณสุข ได้ร่วมบูรณาการพร้อมหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบงานด้านสุขภาพสัตว์และงานด้านสัตวแพทย์สาธารณสุข
ประสานงานและดำเนินการภายใต้หลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ดำเนินงานภายใต้กรอบแผนงานของ WHO International Health Regulations (IHR) และ OIE Performance of Veterinary Services (PVS) Pathway โดยในส่วนของประเทศไทยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานสากลทั่วโลก
การประชุมเชิงปฏิบัติการ IHR-PVS National Bridging Workshop กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) โดยมีจุดประสงค์เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ช่องว่างระหว่างการดำเนินงานของภาคส่วนสาธารณสุขและสุขภาพสัตว์ของประเทศไทย
ทบทวนความร่วมมือด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อระหว่างสัตว์และคน (Zoonotic disease) ร่วมกำหนด Road-map มาตรการแก้ไขและกลยุทธ์การทำงานรูปแบบใหม่เพื่อพัฒนาความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อหาแนวทางในการประสานและเชื่อมโยงการทำงานกันในการรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ที่มีต่อการดำรงอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข Dr. Richard Brown (Acting WHO Representative to Thailand office)
Dr. Ronello Abila (WOAH Sub-Regional Representative for Southeast Asia) ดร.คเชนทร์ วงศ์สถาพรชัย (Regional Manager of the Emergency Center for Transboundary Animal Diseases, FAO Regional Office for Asia and the Pacific ) และผู้แทนจากจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภาคส่วนของสิ่งแวดล้อม แพทย์ทหาร ฯลฯ
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับบุคลากรด้านบริการสุขภาพสัตว์และสุขภาพคนในประเทศ เพื่อพัฒนาระบบด้านสุขภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) และนำมาใช้ในการประเมินตนเอง (PVS self-evaluation)
เพื่อลดช่องว่างและเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาการทำงานด้านสุขภาพสัตว์และระบบงานด้านสัตวแพทย์บริการสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข่าวสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ที่ www.dld.go.th หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง